เด็กไทยต้องรู้การเอาตัวรอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ที่มาของภาพ http://www.flowersandpaperbirds.org/images/1104902840/02.jpg
เมื่อต้นพฤษภาคม พ.ศ.2551 เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงอย่างที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน ติดต่อกันใน 2 ประเทศ โดยเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2551 พายุไซโคลนนาร์กิสถล่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอีรวดีและนครย่างกุ้งในประเทศพม่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2551 เกิดพายุทอร์นาโด พัดถล่ม 3 รัฐของสหรัฐอเมริกา เกิดสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือน ประชาชนกว่า 9 หมื่นคนไม่มีไฟฟ้าใช้และจากนั้นเมื่อ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2551 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ ในมณฑลเสฉวนทางตอนกลางของประเทศจีน สร้างความเสียหายมากกว่าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผู้เสียชีวิตกว่า 30,000 คน และกว่า 5 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระตุ้นคนทั่วโลกให้หันกลับมาสนใจภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงติดต่อกันหลายครั้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีโอกาสเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นเดียวกัน นักวิชาการด้านธรณีวิทยาและนักพยากรณ์การอากาศหลายท่านได้เตือนว่า ประเทศไทยมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติเช่นเดียวกับประเทศอื่น โดยภัยพิบัติทางธรรมชาติที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ พายุ น้ำท่วม ตามมาด้วยดินถล่ม อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น เอื้อให้เกิดพายุโซนร้อนในหลายพื้นที่ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และมีโอกาสเกิดพายุทางทะเลจีนใต้เข้าไทยมากขึ้นด้วย
กรณีการเกิดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงนี้ มีสาเหตุมาจากแกนโลกมีการบิดตัว จากที่เอียง 23.5 องศา กำลังขยับเข้าใกล้ 22 องศา ดังนั้น ประเทศที่อยู่ในพื้นที่รอยเลื่อนมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้มาก ดร.สมิธ ธรรมสโรช ประธานอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวตลอดเวลา เนื่องจากมีรอยเลื่อนสำคัญ 13 แห่ง ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวในจีนได้กระตุ้นรอยเลื่อนที่มีอยู่ และเหตุการณ์แผ่นดินไหวใต้ทะเล จนเกิดคลื่นยักษ์สินามิเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ทำให้รอยเลื่อนมีปฏิกิริยาต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้น ประการสำคัญ แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถพยากรณ์ระยะเวลาเกิด สถานที่เกิด และระดับความแรงได้
ดังนั้นผมเสนอว่าว่า ประเทศไทยควรเร่งให้การศึกษาและความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและเอาตัวรอดภัยพิบัติทางธรรมชาติแก่เด็ก เยาวชนและประชาชนอย่างจริงจัง เพื่อสามารถเอาตัวรอดและปลอดภัยได้จากภัยพิบัติ
แนวทางการให้ความรู้เกี่ยวกับการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว
ตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวมากที่สุดในโลก รัฐบาลได้เห็นความสำคัญนี้และมีมาตรการให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนจะได้รับความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวและการเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่ยังเยาว์วัย ประเทศญี่ปุ่นมีภูมิประเทศเป็นเกาะน้อยใหญ่กว่า 3,000 เกาะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหมู่เกาะภูเขา และบางส่วนเป็นภูเขาไฟ นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลก จึงเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด
ตั้งแต่เยาว์วัย เด็กและเยาวชนชาวญี่ปุ่นทุกคน จะได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีการรับมือเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในสถานศึกษา เปรียบเหมือนเป็นความรู้สำหรับการดำรงชีวิต โดยเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อาทิ สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังแผ่นดินไหว เช่น สินามิ ดินถล่ม ฯลฯ การเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว และมีศูนย์แผ่นดินไหวที่คอยให้ความรู้ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวแก่ชาวต่างชาติ ที่เข้ามาทำงาน หรือเรียนในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน โดยชาวต่างชาติทุกคนจะได้รับแจกเอกสารเกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว สำหรับนักเรียนนักศึกษาต่างชาติ นอกจากได้รับแจกเอกสารแล้ว ยังต้องเข้าเรียนและรับการฝึกทักษะการเอาตัวรอดที่ศูนย์แผ่นดินไหวของญี่ปุ่นอีกด้วย
ญี่ปุ่นนับเป็นต้นแบบ การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยควรนำมาปรับใช้ เพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้
กำหนดหลักสูตรและเนื้อหาสอนเอาตัวรอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับพิบัติทางธรรมชาติประเภทต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ อาทิ แผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม ดินถล่ม เป็นต้น พร้อมกันนี้ควรสอนวิธีเอาตัวรอดในภาคปฏิบัติร่วมด้วย เช่น สอนว่ายน้ำ วิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดไฟไหม้ พายุ และแผ่นดินไหว ฯลฯ รวมทั้ง สอนช่องทางการแจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติประเภทต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ การเรียนการสอนสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพบริบทของชุมชน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันระหว่างชุมชนในเมืองและชนบท เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่ควรเข้าไปสังเกตชุมชน เพื่อหาจุดที่เสี่ยงของพื้นที่ที่อาจเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และขอข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยตรง เพื่อนำมาปรับใช้และประยุกต์ใช้จัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา
นอกจากนี้ ศธ.ควรมีการจัดทำตัวแบบหลักสูตร เนื้อหาและวิธีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงมีระบบให้คำปรึกษา และประสานงานเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนในการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้อง
แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงทำให้การตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวมีน้อยตามไปด้วย แต่ปัจจุบันคงไม่สามารถนิ่งเฉยต่อไปได้ เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มอาจเกิดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ปัญหาโลกร้อน การขุดใช้ทรัพยากรธรรมชาติในชั้นใต้ดินจำนวนมาก การหมุนของแกนโลก ฯลฯ ดังนั้น การให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น และไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2551
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-05-24