สร้าง Niche Tourism บนจุดแข็งการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมาก นโยบายการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
กรุงเทพมหานครถือได้ว่าเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศ นโยบายการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ จึงได้รับความสำคัญในลำดับต้น ๆ เพราะนโยบายนี้จะทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน และการกระจายรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไปยังธุรกิจต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม ร้านขายสินค้า ธุรกิจการขนส่ง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศและเมืองต่าง ๆ ในโลกต่างให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน โดยพยายามดำเนินนโยบายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ฉะนั้น การที่กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองเป้าหมายของนักท่องเที่ยว จำเป็นต้องสร้างจุดขายที่แตกต่าง โดยจุดขายนั้นต้องอยู่บนจุดแข็งของกรุงเทพฯด้วย
กรุงเทพฯ มีจุดแข็งมากมาย มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก อาทิ วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ พระบรมมหาราชวัง เสาชิงช้า ภูเขาทอง กรุงเทพฯยังมีวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีที่หลากหลาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น รวมทั้งเป็นแหล่งรวมอาหารและผลไม้ของทุกภาคซึ่งหารับประทานได้ทุกฤดูกาล นอกจากนี้กรุงเทพฯยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับการท่องเที่ยวได้อย่างเพียงพอ อาทิ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุม และโรงพยาบาล โดยมีความโดดเด่นทั้งในด้านบริการที่ดี มีคุณภาพสูง มีความหลากหลายในเลือก และค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำ
เมื่อพิจารณาถึงจุดแข็งดังกล่าว ช่องว่างการตลาดทางการท่องเที่ยว (Niche Tourism) ที่ควรได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อให้เป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ควรจะมีรูปแบบดังต่อไปนี้
การท่องเที่ยวแบบ Mice (Meeting Incentive Convention and Exhibition) หรือธุรกิจการท่องเที่ยวในลักษณะธุรกิจการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายเงินประมาณ 7,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงกว่าการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ กว่าเท่าตัว (3,365.60 บาทต่อคนต่อวัน)
คู่แข่งสำคัญของกรุงเทพฯในด้านการท่องเที่ยวแบบ Mice คือ สิงค์โปร์และฮ่องกง อย่างไรก็ตามหากพิจารณาศักยภาพแบบเมืองต่อเมืองแล้ว กรุงเทพฯ มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแบบ Mice เพราะมีพื้นที่จัดการประชุมและแสดงสินค้ารวมกันเป็นจำนวนมากเป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากจีน โดยศูนย์ประชุมระดับชาติหลายแห่ง เช่น ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติไบเทค บางนา ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี รวมทั้งห้องประชุมในโรงแรมชั้นนำอีกหลายแห่ง
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และใช้เวลาส่วนหนึ่งเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งกรุงเทพฯ มีสถานที่รองรับการท่องเที่ยวลักษณะนี้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสปาที่มีมากกว่า 300 แห่งทั่วกรุงเทพฯ การนวดแผนโบราณที่เป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทย รวมทั้งโรงพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐานหลายแห่ง โดยมีค่ารักษาถูกกว่าต่างประเทศหลายเท่าตัว ทั้งนี้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กำลังทวีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ทำประกันสุขภาพในต่างประเทศ ที่แสวงหาบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ แต่มีราคาถูกกว่าการรับบริการในประเทศของตนเอง
แม้ว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะภาคเอกชนได้เปิดดำเนินการและพัฒนาธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง แต่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ค่อนข้างสูง อาทิ สิงค์โปร์ อินเดีย รวมถึงเกาหลีใต้ที่ประกาศตัวว่าจะเป็นที่ 1 ในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรดำเนินนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ ทั้งด้านการประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการตลาด การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจนี้ การจัดหาที่ปรึกษาและแหล่งเงินทุน การประสานงานกับหน่วยงานระดับประเทศในการขอวีซ่าได้สะดวกขึ้นและการพัฒนาบุคลากรที่ให้บริการด้านนี้
การท่องเที่ยวชิมและปรุงอาหารไทย เนื่องจากอาหารไทยและผลไม้ได้การยอมรับในระดับโลกในเรื่องรสชาติและผลดีต่อสุขภาพ การสำรวจความเห็นของนักท่องเที่ยวจึงพบว่า อาหารไทยเป็นปัจจัยอันดับ 2 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจมาเที่ยวเมืองไทย กรุงเทพฯ จึงควรนำความได้เปรียบที่เป็นศูนย์รวมอาหารทั้ง 4 ภาคของไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยว อาทิ การจัดโปรแกรมทัวร์ชิมและปรุงอาหารเด่นทั่วกรุงเทพฯ ทัวร์ชิมและปรุงอาหารฮาลาลเพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศมุสลิม ทัวร์ชิมและปรุงอาหารเพื่อสุขภาพเพื่อนักท่องเที่ยวสูงอายุหรือผู้ใส่ใจในสุขภาพ การจัดหลักสูตรฝึกทำอาหารไทยสำหรับนักท่องเที่ยวสุภาพสตรี การพัฒนามาตรฐานร้านอาหารไทยและผู้ปรุงอาหาร ฯลฯ
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จากการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวที่จัดทำโดยสถาบันเคลล็อกร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ปัจจัยลำดับต้น ๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในต่างประเทศ คือ วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย และมีทั้งวัฒนธรรมเมืองและชนบท โดยเฉพาะในเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ ยังคงรักษาวิถีชีวิตชุมชนและขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นที่น่าสนใจ กรุงเทพฯ จึงควรจะนำจุดแข็งนี้มาพัฒนาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การล่องเรือชมวิถีชาวบ้าน การจัดทำโฮมสเตย์ การฝึกทอผ้า การแสดงกิจกรรมพื้นบ้าน การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม ฯลฯ
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์หลากหลาย ทั้งความทันสมัย และการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม สิ่งเหล่านี้จึงควรได้รับการพัฒนาให้เป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม
admin
เผยแพร่: 
กรุงเทพธุรกิจ
เมื่อ: 
2008-05-20