ต่อยอดและบูรณาการงานทางวิชาการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
พอล แอนโธนี แซมมวลสัน (Paul Anthony Samuelson) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี ค.ศ.1970 ผู้บุกเบิกงานในสาขาต่าง ๆ ด้านเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐศาสตร์มหภาค เศรษฐศาสตร์การคลัง เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ภายหลังการศึกษาในระดับปริญญาเอกไม่นาน แซมมวลสันได้รับรางวัลถึง 2 รางวัล คือ The David A. Wells Prize โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมอบให้ในปี ค.ศ.1941 ในฐานะดุษฎีบัณฑิตที่มีผลงานวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม และรางวัลระดับชาติอย่าง the John Bates Clark Medal โดย The American Economic Association มอบให้ในปี ค.ศ.1947 ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์อายุน้อยกว่า 40 ปีที่สามารถสร้างสรรค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีคุณค่า
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงแก่แซมมวลสันในช่วงแรกคือ ตำราเศรษฐศาสตร์ชื่อ Foundation of Economic Analysisตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1947และตำราอีกเล่มหนึ่งชื่อ Economics: An Introductory Analysisตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1948 มียอดขายหลายล้านฉบับ และแปลเป็นภาษาต่างประเทศรวม 41 ภาษา เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ฮังการี โปแลนด์ เกาหลี โปรตุเกส สเปน อาราบิค รวมถึงภาษาไทย
ชีวิตนักศึกษาปริญญาโทและเอกในรั้วฮาร์วาร์ดของแซมมวลสันนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชื่อเสียงในแวดวงวิชาการ ผ่านหนังสือชื่อ Foundations of Economic Analysis ที่ต่อยอดมาจากงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของตนเอง
การเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว แซมมวลสันต้องเผชิญกับความกดดันอยู่มาก เนื่องจากเขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ ซึ่งกำลังแพร่หลายและหยั่งรากในการเรียนการสอนของฮาร์วาร์ด ในขณะที่บรรยากาศทางวิชาการภายนอกมหาวิทยาลัย กลับมีกระแสต่อต้านแนวคิดของสำนักนี้ ทำให้แซมมวลสันต้องระมัดระวังในการเขียนหนังสือเล่มนี้อย่างมาก
สิ่งที่แซมมวลสันทำคือ การแสดงออกถึงความเป็นกลางทางวิชาการ ซึ่งมีส่วนช่วยลดแรงต้านจากภายนอก โดยการประกาศว่าตำราเรียนนี้ไม่ได้อิงแนวคิดสำนักใดสำนักหนึ่งเป็นหลัก รวมถึงการพยายามบูรณาการความรู้ที่มีอยู่เพื่อเขียนตำราอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีการจัดระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่ แสดงเป็นความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์ ใช้สถิติและกราฟในการอธิบายเนื้อหาอย่างชัดเจน
ผลตอบรับที่ได้กลับมานั้นไม่เพียงสามารถลดกระแสการต่อต้านลงได้ แต่ยังทำให้นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า ตำราเล่มนี้เป็นพัฒนาการทางทฤษฎีของวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่ผสานแนวคิดสำนักเคนส์เข้ากับแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเดิมคือ สำนักคลาสสิกและสำนักนีโอคลาสสิก
นอกจากนี้ แซมมวลสันยังเป็นผู้ที่เผยแพร่แนวคิดเรื่อง รัฐสวัสดิการ (Welfare State) ซึ่งมาจากความเชื่อของเขาที่ต้องการเห็นระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งเอื้ออาทรต่อคนผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ทั้งในประเด็นระบบการประกันสังคม และโครงการช่วยเหลือครอบครัวยากจน ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลหลายประเทศ
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชีวิตของแซมมวลสัน นักวิชาการผู้บุกเบิกงานในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งส่งอิทธิพลไปในวงกว้างของสังคมนั้นคือ การเป็นบุคคลที่เห็นความสำคัญของการต่อยอดทางความรู้ ไม่ปล่อยให้สิ่งที่เรียนมานั้นสูญหายไป แต่นำมาผนวกกับประสบการณ์ องค์ความรู้จากสาขาอื่น จนเกิดการก่ายกันขึ้นทางวิชาการ
ผมเห็นว่าแท้จริงแล้ว ทุกคนสามารถเป็นผู้ที่สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ได้เช่นเดียวกัน โดยการเรียนรู้ที่จะต่อยอดทางความรู้ เราไม่ควรปล่อยให้เมล็ดพันธ์แห่งความรู้ที่เราได้รับจากการศึกษาสูญหายไป ดังคำที่มักได้ยินกันเมื่อบางคนจบการศึกษาไปสักระยะหนึ่งว่า ldquo;เอาความรู้คืนครูหมดแล้วrdquo;
ความสามารถในการต่อยอดทางความรู้ เกิดจากการศึกษาค้นคว้า ตั้งเป้าหมาย วางแผนการใช้เวลาและทรัพยากรทางการศึกษาในระหว่างที่ศึกษา ทั้งในศาสตร์ที่ตนเองถนัด และองค์ความรู้ในสาขาอื่น จนนำไปสู่การสร้างความรู้ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง หาทางออกใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา อันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงการพัฒนาวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ
คุณค่าของการศึกษาจึงอยู่ที่ ผู้เรียนแต่ละคนเห็นความสำคัญ มีเป้าหมายในการเรียนที่ชัดเจนและถูกต้องว่า ต้องการยกระดับความรู้ สติปัญญา ความสามารถของตนเอง และนำมาความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ ร่วมกับความรู้ในสาขาอื่น เพื่อประโยชน์ในอนาคต ทั้งการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2008-05-20