การประกันราคาประหยัดเพื่อคนชุมชน
ในปัจจุบันนี้ การประกันภัย ประกันวินาศภัย รวมไปถึงการประกันชีวิต กลายเป็นอีกสิ่งที่ถือว่ามีความจำเป็นสำหรับคนในสังคมมากขึ้น คนไทยเริ่มมีความเข้าใจในเรื่องธุรกิจประกันภัยดีขึ้น ตลอดจนมีการประกันชีวิตมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงในชีวิตสูง เช่น ผู้ใช้แรงงาน คนรับจ้าง หาบเร่แผงลอย คนหาเช้ากินค่ำ แรงงานนอกระบบเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคมและระบบประกันสังคมได้ง่าย เมื่อต้องประสบอุบัติเหตุ อุบัติภัยต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ก็จะไม่มีรายได้ ทำให้ต้องพบกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ยิ่งหากผู้นั้นเป็นผู้ที่หารายได้หลักให้กับครอบครัวแล้ว ย่อมหมายถึงความลำบากในครอบครัวที่มากขึ้นจากการที่เสาหลักของครอบครัวขาดรายได้ และหมายถึงผลกระทบทางสังคมอื่น ๆ ที่จะตามมา
จากประสบการณ์ที่ผมได้เข้าไปเยี่ยมเยียนชุมชนต่าง ๆ ร่วมรับฟังปัญหาของคนในชุมชน ผมพบว่า คนที่พักอาศัยในชุมชนที่มีรายได้น้อยเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ในความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากอัคคีภัย ซึ่งมักเกิดในชุมชนแออัดเป็นส่วนใหญ่ และหากเกิดขึ้นแล้ว ก็มักจะตามมาด้วยปัญหาคนสิ้นเนื้อประดาตัว ขาดที่พักพิง หรือความเสี่ยงจากภัยอาชญากรรม การถูกทำร้ายร่างกาย หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ผมจึงเกิดแนวคิดว่า น่าจะมีการริเริ่ม ldquo;การประกันราคาประหยัดrdquo; เพื่อที่จะช่วยเหลือคนในชุมชนที่มีรายได้น้อย ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงการทำประกันภัยราคาสูงที่เสนอขายโดยบริษัทประกันและธนาคารต่าง ๆ ได้ ซึ่งการประกันราคาประหยัดจะเป็นประกันภัยแบบกลุ่มในชุมชน โดยผู้เอาประกันสามารถจ่ายเบี้ยประกันในราคาถูกอัตราเดียว และเอาเงินประกันสูงสุดจำนวนเท่ากันในอัตราเดียวกันด้วยเช่นเดียวกัน
แนวทางการดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าว ทางกรุงเทพมหานครอาจเริ่มโดยการสำรวจตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อหาความเสี่ยงในแต่ละชุมชนว่าจะเกิดภัยจากด้านไหนมากที่สุด บางชุมชนจะมีความเสี่ยงในเรื่องการเกิดอัคคีภัย บางชุมชนจะเกิดภัยต่อการประทุษร้ายทางร่างกาย หรือภัยจากธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฯลฯ กรุงเทพมหานครจะนำผลการสำรวจความเสี่ยงที่เกิดขึ้น หารือกับบริษัทประกันทำการประเมินเบี้ยประกัน และจำนวนเงินเอาประกันสูงสุดในอัตราเดียวกันจากระดับภัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในชุมชนต่าง ๆ หากสมาชิกชุมชนที่มีกำลังในการจ่ายเบี้ยประกันสูงกว่าเบี้ยประกันขั้นต่ำที่บริษัทประกันเสนอมานั้น ก็จะได้รับการคุ้มครองภัยจากความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากจำนวนเงินเอาประกันสูงสุดที่คุ้มครองตามที่บริษัทบริษัทนำเสนอมาในตอนแรก
ตัวอย่างเช่น สมมติว่าได้ทำการสำรวจชุมชนในพื้นที่เขตคลองเตย 20 ชุมชน มีจำนวน 1,000 หลังคาเรือนพบว่า ชุมชนในคลองเตยทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงในเรื่องการเกิดอัคคีภัย บริษัทประกันภัยได้คิดอัตราเบี้ยประกัน 365 บาทต่อปี หรือ 1 บาท ต่อวัน สามารถเอาประกันสูงสุดได้ 15,000 บาทต่อครัวเรือน หาก บางครอบครัวในชุมชนที่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้มากกว่า 1 บาทต่อวัน ก็สามารถเอาเงินประกันสูงสุดมากว่า 15,000 บาท
การประกันราคาประหยัดนี้ ยังสามารถจัดประกันภัยในเรื่องอื่น ๆ นอกจากการทำประกันอัคคีภัยได้ โดยต้องทำประกันภัยหมู่ขนาดใหญ่ หรือ micro-insurance เช่นกัน ประกันรูปแบบอื่น ๆ อาทิ
ประกันชีวิต โดยมีเงื่อนไขเดียวกับประกันอัคคีภัย คือต้องทำประกันหมู่ขนาดใหญ่ แต่เงินเบี้ยประกันจะสูงกว่าประกันอัคคีภัยซึ่งอาจจะอยู่ที่ 750-800 บาท ต่อปี และจำนวนเงินเอาประกันสูงสุด 50,000 บาท ซึ่งจะมีการแยกคนทำประกันตามช่วงอายุโดยแบ่งเป็น ช่วงอายุ 30-40 ปี, 41-50 ปี, และ 51-60 ปี และมีจุดประสงค์ในการชดเชยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตหรือทุพลภาพถาวร
ประกันสุขภาพ เป็นประกันหมู่ขนาดใหญ่ที่บริษัทประกันสนับสนุนให้คนในชุมชนที่มีรายได้น้อยทำมากที่สุด เพราะประกันสุขภาพโดยธรรมชาติแล้วเบี้ยประกันจะถูกและให้ความคุ้มครองในจำนวนเงินที่สูง ประกันสุขภาพสามารถยกระดับบริการสุขภาพของคนในชุมชน เพราะผู้เอาประกันสามารถเลือกเข้ารับบริการจากทางโรงพยาบาลที่มีความยืดหยุ่นและสะดวกกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้
ประกันอุบัติเหตุ เป็นประกันหมู่ขนาดใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถทำได้ในราคาเบี้ยประกันที่ถูก หากจำนวนผู้ที่จะทำประกันอุบัติเหตุมีจำนวนสูงพอ ก็อาจจะประสานการทำประกันหมู่อุบัติเหตุในราคาเบี้ยประกันที่ถูกได้
จากตัวอย่างสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ การทำประกันแบบ micro-insurance ในประกันแต่ประเภทสามารถเกิดขึ้นได้จริง และสามารถที่จะช่วยเหลือประชาชนในชุมชนในเขตกรุงเทพฯ ให้มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิตมากขึ้น เพราะหากเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด เช่น อัคคีภัย อุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย อย่างน้อยคนในชุมชนเหล่านี้ ที่ไม่สามารถเข้าถึงการทำประกันก่อนหน้านี้ ก็สามารถได้รับหลักประกันประกันการคุ้มครองภัยจากสิ่งที่ไม่คาดคิดเหล่านั้น และมีเงินทุนก้อนหนึ่งในการเยียวยาเบื้องต้น หรือเป็นทุนในการสร้างอาชีพต่อไป
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-05-15