สิ่งใหม่ในรัฐธรรมนูญ ปี 50
ก่อนจะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมได้เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปี 2540 และร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยหวังว่าจะช่วยให้ประชาชนมีข้อมูลในการตัดสินใจลงประชามติ มากกว่าให้กระแสสังคมหรือความรู้สึกนำหน้า
แนวคิดเบื้องหลังของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ไม่แตกต่างกัน เพราะยังคงให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเสรีตามกลไกตลาด รวมทั้งการที่รัฐทำหน้าที่จัดสรรสวัสดิการแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ ldquo;Social liberalismrdquo;
ในส่วนของเนื้อหา ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังคงมีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทั้งหมด แต่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีประเด็นหลักที่เพิ่มขึ้น 3 ประเด็นเพื่ออุดรูรั่วของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ที่ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ
ประเด็นแรก กระบวนการทำหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเขตอำนาจของรัฐ กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนและงบประมาณ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องเปิดเผยรายละเอียดของสัญญา และต้องชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยตรากฎหมายลูกเกี่ยวกับกระบวนการเหล่านี้
ประเด็นต่อมา การกำหนดให้วิธีการงบประมาณมีหลักเกณฑ์ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ และทำให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ โดยให้การเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องแสดงข้อมูลรายรับ สถานะทางการเงินการคลังที่ผ่านมา และให้ตรากฎหมายการเงินการคลังเพื่อเป็นกรอบในการใช้จ่ายของรัฐ รวมทั้งให้ชี้แจงเงินรายได้ที่ไม่ต้องนำส่งคลังหรือเงินนอกงบประมาณต่อรัฐสภาด้วย
ประเด็นสุดท้าย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น และต้องไม่ให้อยู่ในความผูกขาดของเอกชน และกำหนดว่าโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐนั้น รัฐจะเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 ไม่ได้
ผมเห็นด้วยกับหลายประเด็นที่เพิ่มเติมเข้ามา ถึงกระนั้น ผมเห็นว่ายังมีบางประเด็นที่สำคัญในด้านเศรษฐกิจที่ควรคำนึงถึง อาทิ การกำหนดกระบวนการทำหนังสือสัญญาระหว่างรัฐและเอกชนให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ การคุ้มครองดูแลผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งความไม่เพียงพอของงบประมาณแผ่นดินในการจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชน เช่น การจัดการศึกษาที่แม้ว่าการกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่เพียงพอของงบประมาณเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งผมเห็นว่า ควรให้ประชาชนที่มีความสามารถในการจ่ายร่วมจ่ายด้วย หรือควรระบุถึงการขยายฐานการจัดเก็บภาษีเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอต่อภาระหน้าที่ของรัฐในการจัดสวัสดิการสังคมด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่า ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากแต่ควรพิจารณาด้วยว่า จะทำอย่างไรให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศปฏิบัติตามสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ไม่ให้เหมือนอย่างที่ผ่านมา ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่ตัวอักษรที่อยู่บนแผ่นกระดาษเท่านั้น
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-07-27