ภาษา สื่อสาร ประสบการณ์สร้างอีเลียต

นักเขียนชื่อก้องโลกนาม ที เอส อีเลียต (Thomas Stearns Eliot: T.S. Eloit) ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ.1948 ซึ่งคนไทยหลายคนคุ้นเคยผลงานอันเป็นอมตะของเขา อย่างเช่น The Love Song of J. Alfred Prufrock, The Waste Land, The Hollow Men ที่ล้วนเป็นผลงานที่ทำให้ผู้อ่านได้ดื่มด่ำในรสวรรณกรรม และความคิดอันลึกซึ้งของผู้เขียนที่ยากจะหาคนมาเทียบได้
ปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จของนักเขียนรางวัลโนเบลผู้นี้ เป็นเรื่องของความบากบั่นพยายามในการศึกษาหาความรู้ ลงลึกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสนใจ รวมถึงการฝึกฝนในภาคปฏิบัติจนเกิดความเชี่ยวชาญ
ชีวิตในวัยเรียนของอีเลียตนั้นถือได้ว่า เป็นเวลาแห่งการสะสมความรู้ด้านต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์วรรณกรรมชั้นยอดในเวลาต่อมา ยกตัวอย่างเช่น
ฝึกฝนความชำนาญด้านภาษา เพื่อเข้าถึงวรรณกรรมทั่วโลก ในขณะที่ศึกษาชั้นปริญญาตรีที่ฮาร์วาร์ดอีเลียตได้เริ่มต้นเรียนภาษาต่าง ๆ เพื่อปูพื้นฐานให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ โดยไม่ต้องรอให้ใครมาป้อนความรู้มือสอง ตัวอย่างเช่น การเรียนลาติน กรีก ฝรั่งเศส และเยอรมันเพื่อเป็นรากฐานในการศึกษาปรัชญาและวรรณกรรมในยุคโบราณ รวมถึงเมื่อเรียนในชั้นปริญญาเอก ได้ศึกษาภาษาบาลี สันสกฤต เพื่อศึกษาหลักธรรมของศาสนาในโลกตะวันออกอย่างจริงจัง
ฝึกฝนทักษะการเขียน เพื่อสื่อสารตรงใจผู้อ่าน สมัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีนั้น อีเลียตเริ่มต้นเผยแพร่ผลงาน บทประพันธ์ และได้ลงตีพิมพ์เป็นครั้งคราวในหนังสือพิมพ์ Harvard Advocate ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัยที่ตีพิมพ์ผลงานด้านวรรณกรรมของนักศึกษา นับว่าเป็นก้าวสำคัญของการฝึกฝนการใช้ภาษา ทักษะการสื่อสารกับผู้อ่าน ที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าถึงความคิดของเขาได้ง่ายขึ้น
ฝากตัวเป็นศิษย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างประสบการณ์ต่อยอดการทำงาน เมื่อจบปริญญาตรีจากฮาร์วาร์ด เขาได้เดินทางไปฝรั่งเศส ฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์ชื่อดัง ได้แก่ เฮนรี่ เบริกสัน (Henri Bergson) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าแนวคิดของเขามีอิทธิพลต่อคนในศตวรรษที่ 20 และเรียนการประพันธ์บทกวีจากนักเขียนชื่อดังชาวฝรั่งเศสชื่อ เฮนรี อเลง-โฟร์นิเยร์ (Henri Alain-Fournier) ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่นำเขาไปสู่โลกกว้าง และเรียนรู้การทำงานของคนที่มีชื่อเสียง ก่อนกลับมาเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่ฮาร์วาร์ดอีกครั้ง
การฝึกฝนตนเอง จนมีความเชี่ยวชาญอย่างสูงในด้านที่ตนถนัด ดังเช่นอีเลียตนั้น นับได้ว่า เป็นตัวอย่างที่เราสามารถประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตการศึกษา โดยเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมทรัพยากร และบุคลากรที่มีทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ซึ่งเราสามารถเลือกเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะได้อย่างไม่จำกัด หากเรามีการวางแผนชีวิตและเริ่มเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้
เป้าหมายหนึ่งในการศึกษาคือ การมองเห็นกลไกความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน มีความเข้าใจในเนื้อหาจริง ๆ ตั้งเป้าหมายว่าทุกสาขาวิชาที่เรียนนั้นจะต้องประยุกต์ความรู้สู่การปฏิบัติได้จริงเพื่อสามารถแปลงข้อมูลความรู้มาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ คิดสร้างสรรค์ใหม่ได้ ดังตัวอย่างที่ อีเลียตได้บากบั่นเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองเข้าถึงแหล่งต้นตอของความรู้ได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ยังต้องเรียนเพื่อสั่งสมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์เพื่อสร้างจุดได้เปรียบให้กับตนเอง หากใครสามารถพัฒนาในด้านที่มีความถนัดสนใจให้โดดเด่นได้ ย่อมได้รับโอกาสมากกว่าคนที่มีระดับความสามารถใกล้เคียงกัน ซึ่งอีเลียตได้เป็นแบบอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า การทุ่มเทแรงกายในการฝึกฝนการเขียน การเรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จ เป็นบันไดที่ทำให้สามารถก้าวขึ้นสู่นักเขียนรางวัลโนเบลได้ในเวลาต่อมา
การเตรียมชีวิตอย่างดีเลิศในช่วงวัยเรียนตั้งแต่วันนี้ จะเป็นบันไดชีวิตอีกขั้นหนึ่งสำหรับการก้าวเดินในขั้นต่อ ๆ ไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งขึ้นกับว่าผู้นั้นจะเลือกเดินและก้าวไปในทางที่เตรียมไว้โดยมุ่งฝึกฝนจนเกิดความแตกฉานและเชี่ยวชาญมากน้อยเพียงใด เพื่อทำสิ่งที่ตั้งใจและมุ่งหวังนั้นให้สำเร็จ
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-05-06