ปัดฝุ่น ICL ต้องไม่ผลาญภาษีประชาชน

เงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ ICL (Income Contingent Loan) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า IRL (Income Related Loan) หรือ Graduate Taxes ซึ่งเป็นระบบเงินกู้ที่นำต้นแบบจากประเทศออสเตรเลีย โดยหลักการแล้ว ระบบ ICL นับเป็นมาตรการที่ดี เนื่องด้วยเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ผู้เรียนโดยเฉพาะผู้เรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและปานกลางที่มีแนวโน้มเข้าถึงการอุดมศึกษาได้ นอกจากนั้นยังเป็นการลดภาระในการอุดหนุนการอุดมศึกษาของภาครัฐ เพราะผู้เรียนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ทำให้รัฐสามารถนำเงินส่วนที่เคยอุดหนุนค่าหน่วยกิต ไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษา ในด้านอื่นต่อไป อีกทั้งรัฐบาลตั้งใจจะอุดหนุนนักศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลนให้เป็นหนี้น้อยกว่าสาขาที่ล้นตลาด หนี้ที่นักศึกษากู้ยืมนั้นเป็นหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ยเพียงแต่ปรับเงินต้นตามอัตราเงินเฟ้อ สามารถชำระหนี้ได้ต่อเมื่อทำงานมีเงินเพียงพอ หากตกงานยังไม่ต้องชำระคืน ถ้าทุพพลภาพไม่สามารถทำงานได้ หรือผู้กู้ตายให้ยกเลิกหนี้ไป โดยไม่มีภาระผูกพันกับครอบครัวของผู้กู้
อย่างไรก็ตาม ระบบ ICL ยังมีช่องว่างที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่องบประมาณของประเทศได้ หากไม่ได้ศึกษาผลกระทบเชิงบวกและลงอย่างจริงจัง และดำเนินการอย่างระมัดระวัง เนื่องจากรัฐอาจต้องสูญเสียงบประมาณส่วนหนึ่งไปกับการชดเชยกองทุน ในส่วนของหนี้ที่ไม่สามารถเรียกเก็บจากบัณฑิตได้ ซึ่งหากไม่มีมาตรการรองรับแล้ว อาจนำไปสู่ความล้มเหลว ดังเช่นกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) ที่พบว่า มีหนี้เสียจำนวนมาก
ผมจึงขอชี้ให้เห็นถึงช่องว่างของระบบ ICL ที่อาจก่อเกิดปัญหา เพื่อร่วมกันหาทางป้องกัน และดำเนินการให้กองทุนฯ ดังกล่าว สามารถเป็นเครื่องมือขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้เรียนทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง
บัณฑิตจำนวนมากมีความสามารถจ่ายคืนได้น้อย
แม้ว่ารัฐมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะมีการประกาศใช้กองทุนดังกล่าวภายในปี 2549 ก็ตาม แต่พบว่า รัฐยังไม่มีมาตรการรองรับการหางานทำของบัณฑิตที่จบ ซึ่งหากบัณฑิตจบแต่ไม่สามารถหางานทำได้ จะส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนในกองทุน ICL ได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เดิม ที่มีผู้กู้มากถึงร้อยละ 50 ไม่สามารถคืนเงินกองทุนได้ตามกำหนดเนื่องจากไม่มีงานทำ และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเรื่องผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547 พบว่า ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตกงานมากที่สุด 1.6 แสนคนจากจำนวนผู้ตกงานทั้งหมด 5.4 แสนคน ดังนั้นอาจคาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตอาจมีบัณฑิตที่ไม่มีความสามารถในการชำระคืนสูง ทำให้รัฐบาลต้องนำงบประมาณจากส่วนอื่น มาสมทบทุกปี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนนักศึกษาที่เข้าสู่ระบบกองทุนกู้ยืม ICL ที่มีมากขึ้น
นอกจากบัณฑิตไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะไม่มีงานทำแล้ว ยังมีประเด็นของความสามารถในการชำระหนี้ตามเวลาของบัณฑิต ซึ่งหากเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างรายได้ และความสามารถในการชำระคืนของบัณฑิตประเทศออสเตรเลียกับประเทศไทยในระบบเงินกู้แบบเดียวกันนี้พบว่า บัณฑิตออสเตรเลียมีหนี้ผูกพันประมาณ 16,000 - 20,000 เหรียญออสเตรเลีย แต่มีรายได้สูงถึง 25,000 - 30,000 เหรียญออสเตรเลียต่อปี ส่งผลให้สามารถชำระหนี้ในอัตรา 3-6% ของรายได้ และสามารถชำระหนี้เงินกู้ได้หมดไม่เกิน 10 ปี ส่วนบัณฑิตไทยนั้นจะมีหนี้ประมาณ 1 แสน ถึง 1 ล้านบาท แต่มีรายได้เพียง 8 หมื่น ถึง 1.8 แสนบาทต่อปี หากต้องการชำระหนี้ให้หมด ต้องใช้เวลาถึงประมาณ 25-30 ปี รวมถึงระบบสรรพากรที่จะนำมาใช้ในการเก็บหนี้ในระบบ ICL นั้น ในประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมการเก็บภาษีจากเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งหากบัณฑิตส่วนหนึ่งจะผันตัวเองเข้าสู่แรงงานนอกระบบ กองทุนดังกล่าวจะไม่สามารถติดตามทวงหนี้ได้
บัณฑิตอาจหลีกเลี่ยงชำระหนี้โดยใช้ช่องว่างการกำหนดเงื่อนไขจ่ายคืนของกองทุนฯ
ศาสตราจารย์ Prof. Bruce Chapman ผู้คิดระบบเงินกู้ ICL ได้กล่าวถึง ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการชำระหนี้เงินกู้ คือ วัฒนธรรมการชำระภาษีของคนในประเทศนั้น ๆ คือ หากคนในประเทศนั้นไม่เห็นความสำคัญในการเสียภาษี หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ การจัดเก็บเงินกู้ในระบบ ICL จะล้มเหลวในที่สุด ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ในสังคมไทยมีความกังวลอยู่มาก
นอกจากนี้ เงื่อนไขที่ผ่านมาที่รัฐกำหนดไว้ คือ การกำหนดให้กับผู้กู้ คือ ไม่กำหนดระยะเวลาการชำระคืน ไม่มีดอกเบี้ย ชำระคืนเมื่อมีความสามารถเท่านั้น หากตกงาน หรือต้องรับผิดชอบภาระครอบครัว สามารถหยุดการชำระหนี้ได้ โดยที่หนี้สินทั้งหมดไม่มีผลต่อบุคคลอื่นในครอบครัว ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าว จะทำให้บัณฑิตส่วนหนึ่ง ไม่มีความกระตือรือร้นในการชำระหนี้ ผู้กู้สามารถหาทางหลีกเลี่ยง เนื่องจากไม่มีการผูกมัดผู้กู้เหมือนกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเดิม ที่ต้องชำระคืนหลังเรียนจบ 2 ปี โดยไม่คำนึงว่าผู้กู้จะมีงานทำหรือไม่ ซึ่งระบบเงินกู้ ICL นั้น อาจเป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับงบประมาณของประเทศซึ่งเป็นภาษีของประชาชนได้
การลงทุนทางการศึกษาโดยเอื้อให้กลุ่มคนต่าง ๆ สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูง โดยเฉพาะการอุดมศึกษานั้น เป็นการลงทุนระยะยาวในการสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงาน และจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต แต่ประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับต้น คือ ต้องมีการวางแผนในการใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้การลงทุนดังกล่าว เป็นการสูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น ทั้งในแง่การผลิตบัณฑิตเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถหางานทำได้ รวมถึงจะนำไปสู่การระดมทุนจากประชาชน เพื่อนำเงินมามาอุดหนุนกองทุนฯ ในส่วนที่อาจไม่สามารถเก็บคืนจากบัณฑิตบางคนได้
ดังนั้นหากรัฐบาลจะนำระบบ ICL มากลับใช้ จำเป็นต้องมีการศึกษาถึงช่องโหว่ อุปสรรค ปัญหาต่าง ๆ อย่างจริงจัง โดยดำเนินการศึกษาในรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการฟังเสียงประชาพิจารณ์ของกลุ่มต่าง ๆ ในการนำมาใช้พัฒนาระบบให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์สยามนิวส์
เมื่อ: 
2008-05-06