ดูโบอิส ต้นแบบการเรียนรู้อย่างมีอุดมการณ์
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
หากจะกล่าวถึงชื่อของ ดูโบอิส (W.E.B. DuBois) ภาพลักษณ์ของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักเรียกร้องสิทธิแก่คนผิวสีของสหรัฐอเมริกา จะเป็นภาพเบื้องต้นที่หลายคนคิดถึง เนื่องจากตลอดชีวิตของเขา ได้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม และต่อต้านการเหยียดสีผิว เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของคนผิวสี (National Association for the Advancement of Colored People)
อุดมการณ์อันแรงกล้าที่ต้องการสร้างความเท่าเทียม ลดการเหยียดสีผิว เป็นส่วนผลักดันให้เข้าศึกษาต่อในฮาร์วาร์ด โดยเชื่อว่า การศึกษาจะเป็นเครื่องมือยกระดับชีวิตของคนผิวสีในสังคมได้ สิ่งนี้ทำให้ ดูโบอิส มีความมุมานะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน แม้ว่าเขาจะเติบโตมาจากครอบครัวที่ยากจน แต่เขาก็มีความอุตสาหะในการหาเงินพิเศษ เพื่อจุนเจือครอบครัวและใช้เพื่อการศึกษา
การที่ดูโบอิสเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดีมากคนหนึ่ง เขาจึงมีความตั้งใจเฉกเช่นเดียวกับนักเรียนทั่วไปว่า ฮาร์วาร์ดเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จะสมัครเข้าเรียน แต่เขาต้องผิดหวังในครั้งแรกเนื่องจากเงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะเข้าเรียนได้ ทำให้ต้องย้ายมาเรียนวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง ต่อมาภายหลังเขาจึงได้รับทุนการศึกษา และคว้าปริญญาตรีเกียรตินิยมจากฮาร์วาร์ดมาได้สำเร็จภายหลังจบปริญญาตรี เขาได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกสาขาวิชาประวัติศาสตร์ จนเป็นดุษฎีบัณฑิตที่เป็นคนผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์ของฮาร์วาร์ด
ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต สิทธิของคนผิวสีให้มีความทัดเทียมกับคนผิวขาวในสังคมนั้น ทำให้ดูโบอิสใช้ความรู้ความสามารถที่ตนเองได้รับจากการศึกษา ในการทำวิจัย บทความ บทประพันธ์ และหนังสือ ที่มีมากกว่า 4,000 ชิ้น เพื่อผลักดันให้ชนชั้นปกครอง นักการเมือง รวมถึงคนผิวสีทุกคน ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมและเสรีภาพที่แท้จริงของคนทุกชนชั้นและทุกผิวสี ให้เกิดขึ้นในสังคม
การต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของดูโบอิสนั้น ทำให้เขาได้รับการยกย่องจาก ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Dr. Martin Luther King, Jr.) ว่า เป็นคนที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ เนื่องจากกล้านำเสนอความจริงของสังคม ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของการยอมรับความแตกต่างทางสีผิวและเชื้อชาติ
ปรัชญาการเรียนของดูโบอิสนับว่าเป็นสิ่งที่นักศึกษาน่าจะนำไปขบคิด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและตั้งเป้าหมายในการใช้ชีวิต ทั้งก่อนและหลังเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย โดยหวังว่าความรู้ที่ได้รับจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นเครื่องมือช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส มากกว่าเป็นเพียงบันไดที่นำไปสู่การสร้างฐานะและความมั่งคั่งให้ตนเอง
ผมเคยนำเสนอปรัชญาการศึกษาไว้ในหนังสือ ldquo;ศึกษิตแห่งศตวรรษที่21: แนวคิดปฎิรูปการศึกษาไทยrdquo; นำเสนอไว้เมื่อปี พ.ศ.2539 ว่า การศึกษาที่รวมการสร้างสรรค์คนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ประกอบด้วย 3 วัตถุประสงค์คือ
การศึกษาเพื่ออัตตาคือ การศึกษาเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นเครื่องมือสำหรับประกอบอาชีพและความอยู่รอด ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงปรัชญาสาขาวิชาที่เรียน เป็นนักเรียนรู้ไม่ใช่นักเรียนเพื่อสอบ หรือเรียนเพื่อรับปริญญาบัตร
การศึกษาเพื่อชีวา คือ การศึกษาเพื่อเข้าใจความหมายของชีวิต รู้ว่าตัวเองมีคุณค่าเพื่อสร้างคนให้เป็นคน มีคุณธรรมจริยธรรม มีความเข้าใจการเป็นมนุษย์และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เป็นผู้เรียนที่สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข
การศึกษาเพื่อปวงประชา เป็นเป้าหมายสูงสุดของการศึกษา ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือ สร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม มองประโยชน์ของสังคมโดยรวมก่อนประโยชน์ส่วนตัว
ข้อคิดข้างต้นส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ของผมเองในวัยเด็กที่มีโอกาสออกค่ายอาสาพัฒนา และเยี่ยมเยียนชุมชนต่าง ๆ ทำให้เห็นปัญหาของคนยากจนทั้งชนบทและในเมือง จึงมีความตั้งใจว่า จะเรียนวิชาที่สามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ผมจึงเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แทนการเรียนต่อแพทย์ ซึ่งได้รับทุนในตอนแรกและเป็นวิชาที่คนในสมัยนั้นนิยมเรียนกัน
เมื่อจบการศึกษา ผมกลับมาประเทศไทยและเริ่มต้นทำงานทุกประเภทที่สามารถช่วยเหลือสังคม ทั้งการเป็นอาจารย์ วิทยากร เขียนหนังสือ/บทความ เพื่อสะท้อนข้อคิด เสนอแนวทางเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และได้ก่อตั้งกองทุนเวลาเพื่อสังคม โดยเชื่อว่า แต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน และอาจนำมาช่วยผู้อื่นได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการใช้เวลาว่างที่มีอยู่ช่วยเหลือสังคม เช่น สอนภาษาอังกฤษเด็กในชุมชน ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพและครอบครัว ช่วยซ่อมแซมที่อยู่ เป็นต้น
ปรัชญาคุณค่าของการศึกษาที่ผู้เรียนตระหนักว่า ตัวเขาจะไม่มีคุณค่าเลย ถ้าเขาเพียงแต่มีความรู้เก็บสะสมไว้ ใช้ความรู้สร้างฐานะตนและครอบครัว โดยไม่สนใจผู้อื่นหรือสังคม ผมเห็นว่า คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต การใช้ชีวิตที่เสียสละให้ผู้ที่ด้อยโอกาสและให้สังคมที่ต้องการรับการเยียวยาแก้ไขจากความรู้ที่ตนเองมีอยู่ หากผู้เรียนส่วนใหญ่เห็นคุณค่าเช่นนี้ ผมเชื่อว่าจะกลายเป็นพลังมหาศาลที่จะยกระดับสังคมทุกวันนี้ ให้สว่างไสวขึ้น
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2008-05-03