หน้าต่างแห่งโอกาสของเอเชียกำลังจะปิดลง



ที่มาของภาพ lt;http://www.phuketgazette.com/thirdweek/images/p39-Barnett.jpggt;
ผมได้รับเชิญไปบรรยายใน Milken Institute Global Conference ประจำปี 2551 ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน ที่ Los Angeles สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดโดย Milken Institute สถาบันวิจัยอิสระที่เน้นการวิจัย เพื่อเสนอความเห็นและนวัตกรรมทางความคิดแก่ภาคธุรกิจและผู้กำหนดนโยบาย สำหรับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจของประชากรในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
ในการประชุมครั้งนี้มีนักลงทุน นักธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย และนักวิชากรชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก เพื่อพูดคุยถึงการพัฒนาในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน โดยหัวข้อที่ผมได้รับเชิญไปบรรยายเป็นการวิเคราะห์โอกาสทางการตลาดของเอเชียในอนาคต (เอเชียในที่นี้ครอบคลุมเฉพาะเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้) โดยเน้นการวิเคราะห์จากปัจจัยด้านประชากร
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชีย หรือ ldquo;มหัศจรรย์แห่งเอเชียrdquo; (Asian Miracle) ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับการศึกษาวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว คือ ปัจจัยด้านประชากร หรือที่เรียกว่า ldquo;การปันผลทางประชากรrdquo; (Demographic Dividend)
ในอดีตจนถึงปัจจุบัน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้สูงกว่าภูมิภาคอื่นทั่วโลก อันเกิดจากการที่อัตราการตายและอัตราการเกิดลดลง ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยประชากรวัยแรงงานมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในขณะที่สัดส่วนประชากรวัยพึ่งพิง (เด็กและคนสูงอายุ) ลดลง ประกอบกับนโยบายและภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้สามารถรองรับแรงงานที่เพิ่มขึ้นได้ ส่งผลทำให้ผลผลิตต่อหัวหรือรายได้ต่อหัวเพิ่มสูงขึ้น
ดังตัวอย่างของจีน รัฐบาลใช้นโยบายลูกคนเดียว (One-Child Policy) ในช่วงคริสตทศวรรษ 1970 อัตราการเกิดของจีนลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศจีนมีประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก เนื่องจากคนจีนที่เกิดก่อนการประกาศใช้นโยบายนี้มีเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับคนที่เกิดหลังการใช้นโยบายลูกคนเดียว และสัดส่วนแรงงานเพศหญิงที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาระการดูแลลูกน้อยลง รวมทั้งการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจของจีน ส่งผลทำให้เกิดการลงทุนและจ้างงาน ส่งผลทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวสูงที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม การปันผลทางประชากรเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ยั่งยืน แต่มีระยะเวลาช่วงหนึ่งเท่านั้นที่ ldquo;หน้าต่างแห่งโอกาสrdquo; (Windows of opportunity) ได้เปิดออกและจะปิดลงในอนาคต กล่าวคือ เมื่อประชากรวัยแรงงานที่มีเป็นจำนวนมากในปัจจุบันมีอายุสูงขึ้นจนเข้าสู่วัยชรา ขณะที่ประชากรวัยเด็กในปัจจุบันเข้าสู่วัยทำงาน จะทำให้สัดส่วนของคนชราสูงขึ้น แต่สัดส่วนของคนในวัยแรงงานลดลง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตต่อหัวหรือรายได้ต่อหัวประชาชนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง
หน้าต่างแห่งโอกาสของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยเอเชียตะวันออกจะมีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงปี 2553-2558 จากนั้นสัดส่วนดังกล่าวจะลดลงและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในที่สุดทั้งนี้สัดส่วนวัยแรงงานในญี่ปุ่นได้แล้วลดลงแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2543-2548 ส่วนเกาหลีใต้จะมีสัดส่วนวัยแรงงานสูงสุดในปี2553 จากนั้นจะลดลง ขณะที่สัดส่วนวัยแรงงานของจีนจะลดลงตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป สหภาพยุโรปคาดว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากนี้จนถึงปี 2568 จะทำให้จีดีพีของเอเชียตะวันออกเติบโตช้าลงประมาณร้อยละ 0.14 ถึง 0.44 ต่อปี
ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานจะเพิ่มสูงสุด ในช่วงปี 2553-2573 โดยประเทศไทยจะมีสัดส่วนวัยแรงงานสูงสุดในช่วงปี 2553-2555 เช่นเดียวกับสิงคโปร์จะเหลือช่วงเวลาหน้าต่างแห่งโอกาสใกล้เคียงกับไทย ขณะที่ฟิลิปปินส์ยังมีหน้าต่างแห่งโอกาสไปถึงปี 2573 ส่วนประเทศในเอเชียใต้จะถึงจุดสูงสุดของสัดส่วนประชากรวัยแรงงาน ระหว่างปี 2558-2573 โดยเฉพาะอินเดียและบังคลาเทศที่ยังมีหน้าต่างแห่งโอกาสไปจนถึงปี 2568-2573 (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 หน้าต่างแห่งโอกาสของบางประเทศในเอเชีย
ประเทศ
หน้าต่างแห่งโอกาส
ประเทศ
หน้าต่างแห่งโอกาส
อินโดนีเซีย
2518 ndash; 2568
ไทย
2517 ndash; 2558
มาเลเซีย
2513 ndash; 2564
บังคลาเทศ
2527 ndash; 2573
ฟิลิปปินส์
2514 ndash; 2573
อินเดีย
2523 ndash; 2568
สิงคโปร์
2513 ndash; 2558
ศรีลังกา
2513 ndash; 2559
ที่มา : Navaneetham, Kannan. ldquo;Age Structural Transition and Economic Growth: Evidences from South and South-East Asia.rdquo; Asian Metacentre Research Paper Series No. 7 (October 2002).
ถึงแม้ว่าหน้าต่างแห่งโอกาสของบางประเทศกำลังจะปิดตัวลง แต่เอเชียยังมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการปันผลทางประชากรในช่วงที่สอง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีการสะสมทุนสำหรับการเข้าสู่วัยสูงอายุ เนื่องจากการที่ประชากรผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากขึ้นและอายุขัยนานขึ้น จะเป็นแรงผลักให้ภาครัฐ ผู้ที่ใกล้เกษียณอายุ หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ พยายามสะสมความมั่งคั่ง เพื่อใช้บริโภคในยามแก่ชราที่มีช่วงเวลาที่นานขึ้น ส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเกิดจากปัจจัยด้านประชากรอีกระลอกหนึ่ง
รัฐบาลบางประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ ได้เตรียมการณ์รองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าวแล้ว โดยการจัดระบบการออมระยะยาวเพื่อใช้สอยในยามชรา และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สาธารณสุข และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยหวังว่าจะทำให้แรงงานรุ่นใหม่มีผลิตภาพสูงขึ้น สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ แม้จะมีสัดส่วนแรงงานลดลง
สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการเตรียมการณ์เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากนัก ซึ่งหากการเมืองยังขาดเสถียรภาพและขาดนโยบายระยะยาวในการรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในอนาคต เราคงคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า จะเกิดปัญหาความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น และจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลงในระยะยาว
เมื่อถึงเวลานั้น การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะโอกาสได้ปิดลงแล้ว
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่1 พฤษภาคม 2551
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-05-02