โอกาสทางการตลาดของเอเชีย

* ที่มาของภาพ - http://customcom.typepad.com/photos/uncategorized/img_6465.jpg
ผมได้รับเชิญไปบรรยายใน Milken Institute Global Conference ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2551 ณ Los Angeles สหรัฐอเมริกา การประชุมครั้งนี้มีนักลงทุน นักธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย และนักวิชากรชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก เพื่อพูดคุยถึงการพัฒนาในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน
หัวข้อที่ผมได้บรรยายเป็นการวิเคราะห์โอกาสทางการตลาดของเอเชียในอนาคต (เอเชียในที่นี้ครอบคลุมเฉพาะเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้) โดยเน้นการวิเคราะห์จากปัจจัยด้านประชากร ซึ่งผมเห็นว่า แม้เอเชียจะมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น แต่เอเชียยังคงมีโอกาสทางการตลาดสูงมาก
โอกาสจากตลาดขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมากที่สุดในโลก โดยประชากรในเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกัน มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่มีประชากรรวมกันถึง 1 ใน 3 ของโลก
ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรใน 3 ภูมิภาคในเอเชียมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากภูมิภาคนี้มีอัตราการขยายตัวของรายได้ต่อหัวประชากรสูงที่สุดในโลก และธนาคารโลกประมาณการณ์ว่า เอเชียจะมีกลุ่มชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่มีประชากรชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นจาก 280 ล้านคนในปี 2543 เป็น 1,500 ล้านคน 2573 ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีกลุ่มชนชั้นกลางขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ประชากรชนชั้นกลางในบางประเทศ (ล้านคน)
ประเทศ
|
2543
|
2573
|
ประเทศ
|
2543
|
2573
|
จีน
|
80
|
800
|
อินโดนีเซีย
|
12
|
50
|
อินเดีย
|
200
|
700
|
ฟิลิปปินส์
|
6
|
n.a.
|
ไทย
|
15
|
25
|
มาเลเซีย
|
9
|
20
|
ที่มา: World Bank (2008), Australian Government (2007) and EIU Citigroup Reseach, India.
โอกาสของธุรกิจเฉพาะกลุ่มคน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในเอเชีย จะทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจเฉพาะกลุ่มคนมากขึ้น อาทิ
บริการส่วนบุคคล เนื่องจากเอเชียมีสัดส่วนชนชั้นกลางมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีต้นทุนของเวลามากขึ้น จึงต้องการบริการส่วนบุคคลมากขึ้น เช่น การทำงานบ้าน บริการติดต่อหน่วยราชการ เป็นต้น
สินค้าและบริการคุณภาพสูงสำหรับเด็ก เนื่องจากอัตราการเกิดในเอเชียลดลงอย่างรวดเร็ว ครอบครัวจึงมีลูกน้อยลง ทำให้การเลี้ยงดูบุตรมีคุณภาพมากขึ้น และต้องการสินค้าและบริการสำหรับเด็กที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านการศึกษา บริการสุขภาพ และบริการเลี้ยงเด็กเล็ก
สินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์และไทย ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย โดยผู้สูงอายุในประเทศเหล่านี้มีเงินออมสูงมาก (ยกเว้นไทย) รวมทั้งการที่ครอบครัวมีบุตรน้อยลงและลูกหลานมีเวลาดูแลผู้สูงอายุในบ้านน้อยลง ตลอดจนแนวโน้มผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่กับลูกหลานเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ บริการสุขภาพ การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย แม้ตลาดผู้สูงอายุยังมีขนาดเล็กเพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัวและมีเงินออมค่อนข้างต่ำ แต่มีแนวโน้มที่ผู้สูงอายุจะอยู่คนเดียวมากขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 7.4 ในปี 2547 และไทยยังมีศักยภาพในธุรกิจให้บริการผู้สูงอายุจากต่างประเทศ โดยเฉพาะบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ แต่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในโลก รวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและพักผ่อนของผู้สูงอายุ เพราะไทยมีทรัพยากรการท่องเที่ยวจำนวนมาก และมีค่าครองชีพต่ำ
โอกาสของธุรกิจด้านทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากรในเอเชีย ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันของอุปสงค์และอุปทานของแรงงานในแต่ละประเทศ ทั้งความต้องการแรงงานในเชิงปริมาณ เพราะบางประเทศที่มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานลดลง จะมีความต้องการแรงงานกึ่งทักษะและไร้ฝีมือมากขึ้น ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ดึงดูดให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลตอบแทนต่ำ และการอพยพของแรงงานต่างด้าว
ความต้องการแรงงานในเชิงคุณภาพเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะประเทศที่มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจะมีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ทำให้ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานลดลงต้องยกระดับการผลิตให้สูงขึ้นเพื่อหนีจากการแข่งขันด้านค่าจ้าง ทำให้มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือสูงขึ้น
สถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นโอกาสของธุรกิจด้านทรัพยากรมนุษย์ เช่น การฝึกอบรมเพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน บริการการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา การจัดหาแรงงานข้ามประเทศ การจัดจ้างภายนอก (outsource) ข้ามประเทศ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย มีความนิยมศึกษาในต่างประเทศ หรือเรียนหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น และมีแรงงานที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจด้านการศึกษา การฝึกอบรมแรงงาน และฝึกภาษาต่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจจัดส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ เช่น ช่างฝีมือ คนทำงานบ้าน คนดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
โอกาสของธุรกิจการออมและลงทุนระยะยาว เนื่องจากแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศในเอเชีย จำนวนบุตรหลานที่ลดลง และอายุขัยที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นแรงผลักทำให้ผู้ที่ใกล้เกษียณหรือแม้แต่ผู้สูงอายุมีความจำเป็นในการออมระยะยาวมากขึ้น เพื่อใช้สำหรับการดำรงชีพในยามชราที่มีระยะเวลายาวนานขึ้น สถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจเกี่ยวกับการออมและการลงทุนระยะยาว เช่น ธุรกิจประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหุ้น ซื้อขายที่ดิน เป็นต้น ทั้งนี้ในประเทศไทย ประชาชนที่ทำประกันชีวิตและลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังมีน้อยมาก ธุรกิจดังกล่าวจึงมีโอกาสจะขยายตัวได้อีกมาก
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยและบางประเทศในเอเชีย มีแนวโน้มไปสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น แม้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต แต่ท่ามกลางปัญหายังมีโอกาสเกิดขึ้นด้วย ยิ่งกว่านั้น โอกาสที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เพียงโอกาสที่มีขอบเขตเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
* นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่30 เมษายน 2551
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-05-01