สนับสนุนวิจัยในมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากทั้งรัฐบาลกลางและภาคส่วนอื่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ รัฐบาลท้องถิ่น บริษัท สถาบันวิจัย โรงพยาบาล ฯลฯ สะท้อนให้เห็นถึงการเห็นคุณค่าของทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมงานวิจัย และสนับสนุนให้ฮาร์วาร์ดเป็นแหล่งคิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรม ที่นำพาสังคมให้เจริญก้าวหน้า
รายงานของ The Office for Sponsored Programs (OSP) ในปีงบประมาณ ค.ศ. 2007 (Sponsored Research) พบว่า มหาวิทยาลัยได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจำนวน 630.1 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (ราวสองหมื่นกว่าล้านบาท มากกว่างบประมาณปี พ.ศ. 2551 ที่รัฐบาลไทยจัดสรรให้กับการวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศกว่าหนึ่งเท่าตัว[1]) โดยคิดเป็นร้อยละ 19.9 ของค่าใช้จ่ายของฮาร์วาร์ดทั้งหมด (3,170.7 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา)
ข้อสังเกตน่าสนใจด้านทิศทางการสนับสนุนเพื่องานวิจัยสู่ฮาร์วาร์ด
สนับสนุนเงินทุนวิจัยด้านสาธารณสุข การแพทย์และวิทยาศาสตร์
จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานของ The Office for Sponsored Programs และรายงานประจำปี 2006-2007 ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยจากรัฐบาลกลางและภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา พบว่า คณะและวิทยาลัยที่ได้รับบริจาคมากเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ วิทยาลัยแพทย์ (Medical School) วิทยาลัยสาธารณสุข (School of Public Health) และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Faculty of Arts and Sciences) โดยโครงการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับโรคเอดส์ Presidentrsquo;s Emergency Plan for Aids Relief: PEPFAR ได้รับเงินสนับสนุนโครงการสูงสุดติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปี
หากพิจารณาในรายละเอียดการสนับสนุนเงินวิจัยจากรัฐบาลพบว่า ในปีงบประมาณ 2007 รัฐบาลได้สนับสนุนเงินทุนการวิจัยแก่วิทยาลัยแพทย์สูงถึง 193,626,871 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 37.8 ของยอดเงินสนับสนุนงานวิจัยทั้งหมดที่รัฐบาลให้แก่ฮาร์วาร์ด (ยอดเงินสนับสนุนจากงานวิจัยจากรัฐบาลแก่ฮาร์วาร์ดทั้งหมด 511,254,744 เหรียญสหรัฐฯ) นอกจากนั้นภาคส่วนอื่นให้การสนับสนุนแก่วิทยาลัยแพทย์สูงถึง 31,971,700 เหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 26.8 ของเงินสนับสนุนงานวิจัยจากภาคส่วนอื่นที่มอบแก่ฮาร์วาร์ด (ยอดเงินสนับสนุนงานวิจัยจากภาคส่วนอื่นแก่ฮาร์วาร์ดทั้งหมด 118,877,652 เหรียญสหรัฐฯ)
สนับสนุนทุนวิจัยจากแหล่งทุนต่างประเทศ
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ การได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาคส่วนอื่น ไม่เพียงมาจากหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศในสาขาที่หลากหลาย สะท้อนถึงความความพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างกันทั้งในและนอกประเทศของรัฐบาลหลายประเทศ เพื่อยกระดับความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในงานวิจัยร่วมกัน
ตัวอย่างเช่น รัฐบาลของประเทศดูไบ หน่วยงานด้านการคลังของประเทศแอฟริกาใต้ ที่สนับสนุนแก่ วิทยาลัยจอห์นเอฟเคเนดี้ (John F. Kennedy School of Government) กระทรวงการท่องเที่ยวของประเทศโมร็อคโค ที่สนับสนุนแก่วิทยาลัยการออกแบบ (School of Design) รัฐบาลประเทศไซปรัส ที่สนับสนุนทั้งวิทยาลัยสาธารณสุข และวิทยาลัยการออกแบบ รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยต่างชาติ เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์ มหาวิทยาลัยแคนตาเบรีย ประเทศสเปน เป็นต้น
สะท้อนคิดสู่ระบบสนับสนุนงานวิจัยของประเทศไทย หากรัฐบาลเห็นคุณค่าการพัฒนาประเทศโดยอยู่บนฐานการวิจัย รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ว่า จะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยอย่างไร จัดสรรเพื่อหน่วยงานใดบ้าง โดยพิจารณาจากจุดแกร่งของหน่วยงานเหล่านั้น เพื่อการผลิตองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ
ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอง จะต้องขับเคลื่อนตนเองในการหาแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงการพัฒนาความพร้อม ศักยภาพตนเอง โดยพัฒนาจากจุดแกร่งของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างจุดขายและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านรักษาคุณภาพในการวิจัย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
มหาวิทยาลัยนับว่า เป็นสถาบันที่มีศักยภาพในการผลิตองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ กลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในระยะแรกคือ รัฐบาลควรมีมาตรการสนับสนุนหรือให้การอุดหนุนที่น่าจูงใจด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการทางภาษีหรือสิทธิพิเศษอื่น รวมถึงมีส่วนสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือการวิจัยจากภายนอกประเทศ ฯลฯ


[1] ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 11,708.8 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการวิจัยที่มีคุณภาพสามารถนำไปใช้เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศ
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-03-11