วิชาสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคม สะท้อนมหาวิทยาลัยห่วงใยสังคม
ยุคปัจจุบันที่เป็นยุคสังคมแห่งความรู้ การพัฒนาประเทศจึงไม่สามารถละเลยการให้ความสำคัญกับการสร้างมหาวิทยาลัยให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศได้ กล่าวคือ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีส่วนในการสร้างคนที่มีคุณภาพออกมาสู่สังคม เปรียบเหมือนเป็นแหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์ของการสร้างชาติ หากปรารถนาที่จะรู้ว่าสังคมในอนาคตเป็นอย่างไร ให้เพ่งมองที่มหาวิทยาลัยในเวลาขณะนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยจะไปปรากฏเป็นอนาคตข้างหน้าของสังคมอย่างแน่นอน
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างหนึ่งของการวางยุทธศาสตร์ทางการศึกษาที่นำความโดดเด่นด้านในสาขาวิชาต่าง ๆ เชื่อมโยงกับโลกปัจจุบัน และอนาคต จนสามารถปลุกและสร้างกระแสใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในทุกวงการมาแล้วดังเช่น ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ของ ศาสตราจารย์ ไมเคิล พอร์เตอร์ และเมื่อไม่นานมานี้ ฮาร์วาร์ดได้เชิญศาสตราจารย์ กอร์ดอน บลูม (Gordon M. Bloom) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship :SE) มาประจำที่ The Hauser Center for Nonprofit Organization ของ The John F. Kennedy School of Government และเปิดให้มีการเรียนการสอนวิชา Social Entrepreneurship Collaboratory (SE Lab) ซึ่งเป็นการสอนในรูปแบบที่เน้นภาคปฏิบัติมากกว่าที่จะสอนเพียงภาคทฤษฎี โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาคิดโครงการที่จะสามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้จริง ๆ
กระแสเรื่องผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) นั้นเป็นกระแสที่มาแรงในปัจจุบัน เนื่องจากแนวคิด ผู้ประกอบการเพื่อสังคมเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อสังคมได้ประสานระหว่างความคล่องตัว ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมแบบผู้ประกอบการ ร่วมกับความมีจิตสำนึกต่อสังคมแบบนักพัฒนาสังคมไว้ด้วยกัน โดยการนำความเป็นผู้ประกอบการ คือความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางองค์กรหรือธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือทำให้วัตถุประสงค์ที่เจาะจงเพื่อสังคมสำเร็จ ผู้ประกอบการเพื่อสังคมนี้ อาจจะดำเนินการในรูปของธุรกิจเพื่อเป็นเครื่องมือหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้การสนับสนุนความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาสังคมที่ตนเองสนใจ หรืออาจจะไม่ได้ทำธุรกิจแต่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในขณะที่สามารถที่จะมีเงินทุนที่ทำให้โครงการนั้นดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน
การเกิดขึ้นของ Social Enterprise เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนของหน่วยงานเหล่านั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งประเทศในแถบเอเชียเช่น ประเทศอินโดนิเชียที่แต่เดิมมีองค์กรเช่นนี้เพียง 1 องค์กร แต่ในปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นถึง 2,000 องค์กร ประเทศอินเดียที่มีองค์กรภาคประชาชนมากว่า 1 ล้านองค์กร ประเทศบังคลาเทศมีหน่วยงานภาคประชาชน 20,000 หน่วยงาน สำหรับประเทศในแถบตะวันตก ดังเช่น ประเทศแคนาดาหน่วยงานภาคประชาชนที่จดทะเบียนมีเพิ่มมากขึ้นประมาณร้อยละ 50 จากปี 1987ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานภาคเอกชนถึง 200,000 หน่วยงาน ประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนองค์กรภาคประชาชนเพิ่มขึ้นจาก 464,000 เป็น 734,000 องค์กร เป็นต้น
ทั้งนี้ในส่วนตัวผมเองได้ริเริ่มจัดตั้ง ldquo;กองทุนเวลาเพื่อสังคมrdquo; มาราว 10 ปีแล้ว และไม่นานมานี้ได้เชิญ ศาสตราจารย์บลูมเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาของกองทุนฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตสาธารณะในทุกระดับการศึกษา ในทุกสาขาอาชีพ ทุกสถานะทางเศรษฐกิจจัดสรรเวลาว่าง อุทิศเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีให้เกิดขึ้นในบางมุมบางด้านของสังคม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ก้าวเล็ก ๆ ที่เราได้เริ่มต้นทำเพื่อสังคมไทยในวันนี้ จะมีคนอีกเป็นจำนวนมากเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ของการรังสรรค์สังคมให้ดีขึ้นผ่านกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ ในเวลาว่างของแต่ละคน
ในต่างประเทศงานวิจัยของผมส่วนหนึ่งที่ฮาร์วาร์ด ได้แก่ งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมมีความสนใจเป็นพิเศษ และในขณะนี้ผมได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการองค์กรนานาชาติ Political Leaders for Social Enterprise (PLSE) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักการเมืองทั่วโลกที่ปรารถนานำแนวคิดเรื่อง SE เข้าไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นอดีตรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนักการเมืองที่มาจากนานาประเทศ อาทิ เดนมาร์ก สวีเดน แทนซาเนีย เอธิโอเปีย รวมถึงผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ ฯลฯ
นอกจากจำนวนขององค์กรภาคประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น มีอีกหนึ่งสิ่งที่บ่งชี้ว่า เรื่องผู้ประกอบการทางสังคมนั้นเป็นกระแสที่มาแรงในปัจจุบันนั้น คือ การบรรจุเรื่องผู้ประกอบการทางสังคมเป็นหนึ่งในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ไม่เพียงแต่ที่ฮาร์วาร์ดเท่านั้น แต่ยังมีมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เปิดสอน เช่น มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยดุ๊ก มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกินส์ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเป็นต้น เป็นการบ่งชี้ว่าแนวคิดเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น เป็นแนวคิดที่มีความน่าสนใจและเป็นแนวคิดที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนแก่มหาวิทยาลัยของไทยว่า ในยุคที่สังคมต้องการการนำทิศนำทาง และผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นแหล่งรวมของผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นที่สร้างคนระดับหัวกะทิให้กับสังคม บทบาทที่มหาวิทยาลัยพึงเป็นคือ การจัดการศึกษาที่สร้างคนให้มีความรู้ มีทักษะ และมีคุณลักษณะชีวิต ที่ทำให้เป็นผู้นำในสังคมที่จะมีผลต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในอนาคตได้อย่างแท้จริง
ผมยังคงเป็นผู้หนึ่งที่คาดหวังและปรารถนาจะเห็นมหาวิทยาลัยของไทยก้าวสู่ความเป็นเลิศ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ทั้งตอบสนองและชี้นำสังคม เพื่อเป็นฐานที่มั่นที่แข็งแกร่งนำพาประเทศไทยพัฒนารุดหน้าต่อไป
Catagories:
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2007-07-20
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 90 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 61 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 186 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 160 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 122 ครั้ง