แนวคิดเศรษฐศาสตร์กับการทำงานสังคม


* ภาพจาก http://www.bu.ac.th/th/news/phpnews/img/bankru.jpg


งานสังคมคืองานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาของสังคม โดยเฉพาะการช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ผู้ที่มีปัญหาหรือไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ผมเชื่อว่าคนที่ทำงานสังคมส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญหรือความรุนแรงของปัญหาสังคม พร้อมเสียสละตัวเองอาสาตัวเข้าไปทำงานนั้นโดยไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน เช่น อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน ผู้ที่ทำงานในมูลนิธิหรือสมาคมต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยและข้อมูลที่ปรากฏยืนยันว่า การทำงานสังคมโดยอาสาสมัครและองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากในประเทศยังขาดประสิทธิภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวคิดของผู้ทำงานเน้นการทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทนหรือแสวงหากำไร จึงอาจละเลยที่จะประเมินประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและผลที่ได้รับจากการทำงานเพื่อสังคม

ผมเสนอว่า ผู้ที่ทำงานสังคมน่าจะนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ใช้ในงานสังคม เพื่อทำให้การใช้ทรัพยากรและการทำงานสังคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ทำให้เสียอุดมการณ์แต่อย่างใด โดยผมขอนำเสนอแนวคิดเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 2 แนวคิดดังนี้

แนวคิดที่หนึ่ง
: ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) หมายถึง ผลตอบแทนที่มากที่สุดจากทางเลือกที่ไม่ถูกเลือก หรืออธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า ถ้าเรามีทางเลือกในการใช้ทรัพยากรอยู่หลายทาง แต่ละทางเลือกมีผลตอบแทนจากการใช้ทรัพยากรไม่เท่ากัน หากเราเลือกทางเลือกที่มิได้ให้ผลตอบแทนมากที่สุด ต้นทุนค่าเสียโอกาสจะมีค่าเท่ากับทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด แต่หากเลือกทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด ต้นทุนค่าเสียโอกาสจะมีค่าเท่ากับทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากเป็นอันดับสอง

ดังนั้นต้นทุนค่าเสียโอกาสแตกต่างจากต้นทุนทางบัญชีที่มองเฉพาะต้นทุนทางการเงินเท่านั้น แต่นักเศรษฐศาสตร์นำค่าเสียโอกาสมาคำนวณเป็นต้นทุนด้วย

การทำงานสังคมจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเช่นเดียวกับงานประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงิน วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ และแรงงาน ทั้งนี้ผู้ที่ทำงานสังคมส่วนหนึ่งอาจละเลยต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ในการทำงานสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นทุนที่ไม่เป็นตัวเงินหรือต้นทุนที่มองไม่เห็น (implicit cost) เช่นต้นทุนแรงงานที่เป็นอาสาสมัครในงานเพื่อสังคม ซึ่งอาจจะไม่ถูกนำมาคิดเป็นต้นทุนในการทำงาน หรือไม่ถูกนำมาคิดในการประเมินผลการทำงานสังคม

นอกจากนี้ งานสังคมจำนวนหนึ่งอาจใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น (Overcapacity) โดยเฉพาะการระดมอาสาสมัครจำนวนมากเกินกว่างานที่มีอยู่หรือคนล้นงาน และการใช้คนที่ไม่เหมาะสมกับงานหรือให้งานที่ไม่ถนัดหรือต่ำกว่าระดับความสามารถ

ตัวอย่างการใช้คนไม่เหมาะสมกับงาน เช่น นักวิชาการอ่านหนังสือบันทึกเสียงให้คนตาบอดฟัง แพทย์เดินรับบริจาคเงิน นักธุรกิจไปเยี่ยมชนบท เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าการทำงานอาสาสมัครเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นจำนวนมาก และอาจมีทางเลือกอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการทำงานสังคม

แนวคิดที่สอง
: ผลตอบแทนต่อสังคมมากกว่าต้นทุนต่อสังคม คือการใช้ทรัพยากรเพื่อทำงานสังคมต้องทำให้เกิดผลตอบแทนต่อสังคมหน่วยสุดท้าย (Marginal Social Benefit) มากกว่าต้นทุนต่อสังคมหน่วยสุดท้าย (Marginal Social Cost) หรือหมายความว่า ต้นทุนแต่ละหน่วยที่สังคมต้องจ่ายเพิ่มเข้าไปในงานสังคมนั้นจะต้องให้ผลตอบแทนต่อสังคมเพิ่มขึ้นมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มเข้าไป จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการทำงานสังคมที่มีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ทำงานสังคมจึงจำเป็นต้องพิจารณาปัญหาสังคมและทางเลือกในการทำงานสังคมให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะเลือกและจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ไปในงานที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชนมากที่สุด และทำให้ปัญหาสังคมได้รับการแก้ไขและผู้ที่มีปัญหาได้รับการช่วยเหลือในระดับที่เหมาะสมและทั่วถึง

ประการสำคัญ ผู้ทำงานสังคมควรพิจารณาศักยภาพของตน เครือข่ายอาสาสมัครและทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อจัดสรรกำลังคนและทรัพยากรไปในงานที่เหมาะสม ทั้งนี้ผู้ทำงานสังคมบางท่านอาจมีศักยภาพในการบริหารธุรกิจมากกว่าการลงไปทำงานสังคมโดยตรง

ดังนั้น การที่เขาผันตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) โดยการทำธุรกิจเพื่อหาเงินมาทำงานสังคม หรือบริจาคให้กับคนที่ทำงานสังคม หรือจ้างคนมาทำงานสังคม อาจเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสต่ำกว่า และเกิดประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าการลงไปทำงานสังคมด้วยตนเองโดยตรง

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์จึงน่าจะเหมาะสมกับการทำงานสังคมในประเทศไทยที่มีทรัพยากรจำกัด
หากผู้ทำงานสังคมนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการตอบสนองความต้องการทางสังคมและการแก้ปัญหาสังคมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-07-19