ผลักดันภาคประชาชน.....ขับเคลื่อนประชาธิปไตย


* ที่มาของภาพ - http://www.sarakadee.com/feature/2006/07/images/a4114.jpg

ช่วงนี้หากติดตามข่าวต่างประเทศจะพบว่าประเด็นหนึ่งที่เป็นประเด็นร้อน คือ เรื่องการเลือกตัวผู้แทนของพรรคเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แต่สาเหตุที่การชิงชัยในครั้งนี้มีความน่าสนใจมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา คือ ตัวว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคการเมือง เพราะในปีนี้จะพบว่าทางฝั่งของพรรคเดโมเครตนั้น ผู้ที่มีสิทธิจะชนะการแช่งขันนั้น คนหนึ่งเป็นชายผิวสี นายบารัค โอบามา และอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง นางฮิลลารี คลินตัน เหตุการณ์เช่นนี้มองได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะได้ประธานาธิบดีผิวสีคนแรก หรือประธานาธิบดีหญิงคนแรก แต่ใครจะได้รับเลือกคงจะต้องติดตามกันต่อไป

เหตุผลที่ยกประเด็นดังกล่าวขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนผิวสีหรือผู้หญิงอาจถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจมากในสังคม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนว่าแม้จะถูกมองว่าไม่มีอำนาจต่อรองหรือมีอำนาจต่อรองน้อย กระนั้นก็สามารถที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ และอาจจะเป็นกลุ่มคนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม

หากมองย้อนกลับมาที่การเมืองของประเทศไทย ในปัจจุบันได้กลับเข้าสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ มีเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญในการแสดงความคิดเห็น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น และยังให้ภาครัฐสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ดังนั้น กลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสิทธิสตรี กลุ่ม
NGO เช่น กลุ่มคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค หรือ กลุ่มผู้พิการ ควรจะใช้ช่องทางที่กฎหมายได้เปิดโอกาสให้เข้ามามีบทบาททางการเมือง ทั้งในทางตรงและในทางอ้อม โดยที่การเข้ามามีส่วนร่วมในทางตรง คือ การที่กลุ่มคนเหล่านี้จะได้เข้ามามีส่วนในเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย หรือ การแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตนเอง อันได้แก่ การเข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมาธิการ ฯ การรับเชิญเป็นนักวิชาการประจำหรือการเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ เป็นต้น ในส่วนนี้ถือว่าเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมที่สะท้อนความคิดเห็น ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งเป็นการสะท้อนเสียงของกลุ่มคน อันจะช่วยส่งผลให้การออกกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมายเป็นไปอย่างครบถ้วนและรอบคอบ

ในส่วนของการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทางอ้อม ได้แก่ การออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเคลื่อนไหวในที่นี้ มิได้หมายถึง การเคลื่อนไหวในรูปแบบของการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิเท่านั้น แต่หมายถึง การเคลื่อนไหวทั้งในรูปแบบการให้ความรู้ การเสวนาในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแก่บุคคลทั่วไป เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น และหากมีการทำประชาพิจารณ์ในเรื่องนั้น ๆ ประชาชนจะได้รับความรู้ความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจในประเด็นดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นการสะท้อนให้รัฐบาลได้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าในขณะนี้ภาคประชาชนกำลังสนใจในเรื่องใด เรื่องใดที่เป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง

สุดท้ายนี้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของรัฐบาลต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนด้วย เพราะหากภาคประชาชนเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ สะท้อนปัญหาให้รัฐบาล แต่รัฐบาลไม่ใส่ใจ หรือมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนตัว การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจะไม่มีประโยชน์ ในทางตรงกันข้ามหากรัฐบาลใส่ใจต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา จะมิได้เป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไข แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในทางอ้อม คือ การพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบของประเทศไทย
* นำมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันพฤหัสบดีที่7 กุมภาพันธ์ 2551

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-02-09