เพิ่มความใกล้ชิด เพื่อพิชิตใจ
ความสำเร็จของนักพูดที่สามารถพูดได้ประทับใจและจูงใจผู้ฟังได้เป็นอย่างดีนั้น มักมีองค์ประกอบหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน นั่นคือ พวกเขาสามารถสร้างความรู้สึกเป็นกันเองกับผู้ฟังได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนเขาเป็นเพื่อน เป็นคนรู้จัก สามารถพูดคุยกันได้ วิธีการหนึ่งที่นำมาใช้นั่นคือ การสร้างความใกล้ชิดให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าผู้พูดและผู้ฟังจะไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อนเลยก็ตาม
ความใกล้ชิดผู้ฟังจะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นกันเองระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง อันจะช่วยให้ผู้ฟังเปิดรับสิ่งที่เราพูดได้ง่ายขึ้น เราสามารถสร้างความใกล้ชิดผู้ฟังได้หลายวิธีด้วยกัน อาทิ
ทักทายผู้ฟังก่อนพูด ก่อนจะถึงเวลาพูด ผู้พูดหลายคนไม่ได้ฉวยโอกาสนี้ในการทักทาย โอภาปราศรัยผู้ฟัง แต่กลับเก็บตัวเงียบ ซุ่มซ้อมบทพูดหรือไม่ก็ทำสมาธิเพื่อลดความรู้สึกประหม่า ตื่นเต้นก่อนพูด ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยมักจะทักทายผู้ฟัง พูดคุย ถามไถ่เท่าที่เวลาจะอำนวย สำหรับผมแล้วการทำเช่นนี้จะช่วยสร้างความคุ้นเคย ความรู้สึกเป็นกันเอง ความใกล้ชิดระหว่างผมและผู้ฟัง อันจะช่วยให้ยิ่งเกิดความมั่นใจในการพูด เพราะเสมือนหนึ่งได้คุยให้เพื่อนใหม่ฟัง ไม่ใช่คนที่ไม่รู้จักกันเลยฟัง นอกจากนี้ หลายครั้งในการคุยทำให้ผมมีโอกาสยกเรื่องราวที่พูดคุยกันมาพูดบนเวที การกล่าวถึงผู้ฟังบางคน ซึ่งยิ่งช่วยสร้างความคุ้นเคยและการยอมรับระหว่างกันได้มากขึ้น
ลดระยะห่างระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง มีข้อแนะนำว่า ถ้าเราพูดโดยไม่มีบทพูด ให้เราเลือกที่จะไม่ใช้แท่นพูด เพราะการมีแท่นพูดนั้นเหมือนมีกำแพงกั้น ทำให้รู้สึกห่างไกล แต่ควรเลือกที่จะใช้ไมค์ลอย ทำให้เราสามารถเดินไปมาขณะพูดได้
อย่างไรก็ตาม หากเราพูดโดยใช้บทพูด แนะนำว่าควรยืนอยู่ที่แท่นพูดจะถนัดและดูเหมาะสมกว่า แต่เมื่อถึงช่วงที่ต้องตอบคำถาม เราอาจจะเดินออกมาจากแท่นพูด เข้ามาใกล้ผู้ฟังเพื่อตอบคำถามต่าง ๆ อันจะช่วงสร้างความใกล้ชิดระหว่างกันได้มากขึ้น
ใช้ภาษาเดียวกับผู้ฟัง เราควรพูดให้ ldquo;ฟังง่ายrdquo; โดยจำไว้ว่า พูดเพื่อให้คนฟัง ldquo;เข้าใจrdquo; ไม่ใช่พูดให้คนฟัง ldquo;ภูมิใจrdquo; ในความเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ของเรา ดังนั้น แม้ว่า เราจะพูดเรื่องยาก สถิติที่ซับซ้อน ภาษาทางวิชาการที่หรูหราเข้าใจยาก เราจำเป็นต้องพูดให้เข้าใจง่ายที่สุด อาจมีภาพเปรียบเทียบที่ทำให้คนฟังเห็นภาพเข้าใจได้ทันที และอาจใช้ศัพท์บางคำที่ผู้ฟังใช้เป็นประจำ โดยเราต้องคิดถึงผู้ฟังเสมอว่า เราจะจูงใจเขาได้อย่างไร เราควรใช้คำพูดอย่างไร สิ่งที่เราพูดคนฟังเข้าใจได้ทันทีหรือไม่
การให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม หากต้องการสร้างบรรยากาศเป็นกันเองในขณะพูด เราอาจใช้วิธีการให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม เช่น การตั้งคำถามทำนองว่าเห็นด้วยในสิ่งที่เราพูดหรือไม่ เพื่อให้ผู้ฟังที่เห็นด้วยยกมือ หรือระหว่างการพูดอาจมีการแสดงตัวอย่างประกอบ โดยเชิญผู้ฟังบางท่านอาสาตัวขึ้นมาบนเวที วิธีการเหล่านี้หากเลือกใช้อย่างเหมาสมจะช่วยทำให้บรรยากาศการพูดเต็มไปด้วยความเป็นกันเองและความสนุกสนาน
ความใกล้ชิดผู้ฟังช่วยเพิ่มความสำเร็จในการพูด เพราะทำให้ใจของผู้ฟังเปิดออกต้อนรับสิ่งที่เราพูดได้อย่างง่าย ๆ และช่วยเพิ่มความมั่นใจในการพูดของเราต่อหน้าผู้ฟังที่ไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อนเลยได้มากขึ้น
เผยแพร่:
งานวันนี้
เมื่อ:
2008-01-01