เร่งผ่านร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ส่อแวววุ่น

19 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ ซึ่งรวมถึงร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัย 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. .... ท่ามกลางการต่อต้านจากนักศึกษาและพนักงานในมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง แต่ในท้ายที่สุด สนช. ได้ผ่านร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ

ความเร่งรีบในการผ่านร่างฯ ดังกล่าว อาจนำไปสู่ความวุ่นวาย กล่าวกันว่า ก่อนการนำร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง มีกระแสต่อต้านจากประชาคมมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก อีกทั้งยังไม่ได้มีวาระการพบปะระหว่างผู้บริหารกับประชาคมมหาวิทยาลัยเพื่อเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน ก่อนนำร่างยื่นต่อ สนช. โดย สนช. เองก็ไม่มีฝ่ายค้านในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบกัน สนช. ใกล้พ้นวาระดำรงตำแหน่ง โดยเร่งพิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ

ตัวอย่าง ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2550 ซึ่งได้ผ่าน สชน. เป็นฉบับแรก ในรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นตัวอย่างของการตัดสินใจอย่างเร่งรีบและเกิดผลกระทบตามมา เนื่องจากไม่ได้มีการศึกษาวิจัยผลกระทบเรื่องนี้ชัดเจน ขาดการเตรียมความพร้อม และประการสำคัญไม่ได้สอบถามความคิดเห็น และทำความเข้าใจกับประชาคมในมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ปัจจุบันการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยเกิดความสับสน ไม่เข้าใจกัน และพนักงานมหาวิทยาลัยได้รับความเดือดร้อนจากพ.ร.บ. ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการการรักษาพยาบาลของพนักงานมหาวิทยาลัย เพียงแต่กำหนดว่า พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการไม่น้อยกว่าเดิม แต่ขณะนี้ผู้บริหารได้ตัดสินให้พนักงานให้ใช้สิทธิประกันสังคมแทน ซึ่งแต่เดิมได้หักเงินอุดหนุนประจำร้อยละ 10 จากพนักงานเพื่อจัดสวัสดิการให้เหมือนข้าราชการในมหาวิทยาลัย คือ สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ทั้งครอบครัว แต่เมื่อมาให้สิทธิประกันสังคม พนักงานจะได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะตนเท่านั้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น

สร้างความเชื่อมั่นที่เป็นหลักประกันในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หากพิจารณาอย่างเป็นกลาง การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะช่วยให้การบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยทั่วโลกมีแนวโน้มออกนอกระบบเป็นส่วนใหญ่ แต่ในกรณีของประเทศไทย การออกนอกระบบสร้างความกังวลแก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และพนักงานในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษาที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ความไม่เป็นอิสระทางวิชาการ หรือสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของพนักงานที่อาจจะลดลง

แม้ปัจจุบันมีเพียงมหาวิทยาลัยรัฐ 8 แห่งเท่านั้นที่ออกนอกระบบ แต่ยังเหลืออีก 64 แห่ง ในอนาคต ก่อนที่มหาวิทยาลัยรัฐคิดจะออกนอกระบบ ควรเรียนรู้ประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างหลักประกันเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

สร้างความเชื่อมั่นด้านความเท่าเทียมทางการศึกษา ควรกำหนดกรอบค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงการศึกษา โดยหาจุดสมดุลระหว่างคุณภาพและค่าใช้จ่าย ไม่เอาเปรียบคนจน แต่ไม่ถูกจนเกินไป และให้คนรวยจ่ายเอง โดยเก็บค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาที่มีฐานะดีสูงกว่านักศึกษาที่ฐานะยากจน เนื่องจากนักศึกษากลุ่มแรกมีความสามารถในการจ่ายมากกว่า แต่ที่ผ่านมารัฐอุดหนุนนักศึกษาที่รวยและจนเท่ากัน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา เพราะเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุนนักศึกษาที่มีความสามารถในการจ่าย ทำให้คนรวยได้รับประโยชน์มากกว่าคนจน

สร้างความเชื่อมั่นด้านสังคม
มหาวิทยาลัยควรระบุเจตนารมณ์ด้านการรับใช้สังคมในร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัย อาทิ กำหนดสัดสัดส่วนคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เพื่อเข้ามามีส่วนในการบริหารและเสนอความคิดเห็นที่จำเป็นต่อมหาวิทยาลัย หรืออุดหนุนบางสาขาที่ไม่สร้างรายได้ แต่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เช่น ปรัชญา ศาสนา สังคม ฯลฯ

สร้างความเชื่อมั่นด้านผู้เรียน
มหาวิทยาลัยควรตั้งกองทุนเฉพาะเพื่อพัฒนาการศึกษาในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แต่เรียนดี โดยอาจเป็นกองทุนที่มหาวิทยาลัยตั้งขึ้นเอง หรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐและภาคเอกชน อย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 2550 มีกองทุนคงยอดเงินต้น (endowment fund) ถึง 34.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในมหาวิทยาลัย และขณะเดียวกันเพียงพอสำหรับการจัดสรรทุนการศึกษาให้นักศึกษาจากทั่วโลก

สร้างความเชื่อมั่นด้านบุคลากรในมหาวิทยาลัย
ก่อนออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยควรทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในมหาวิทยาลัย อาทิ คณาจารย์ บุคลากร พนักงานในมหาวิทยาลัย เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน อธิบายเจตนารมณ์ และมีข้อตกลงที่ทุกฝ่ายรับได้

การเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดย สนช. นั้น อาจไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร และก่อเกิดปัญหาตามมาแน่นอน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างหลักประกันในด้านต่าง ๆที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ มีการพูดคุยเสนอความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคมและฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่าเป็นทางการ และควรจัดทำโครงการวิจัยผลกระทบเชิงลบเชิงบวกด้านต่าง ๆ ของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยหน่วยวิจัยที่เป็นกลางไม่ขึ้นกับมหาวิทยาลัยที่จะนำออกนอกระบบนั้น มีการจัดทำแผนต่าง ๆ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและประกาศให้รับทราบทั่วกัน จึงจะทำให้การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นที่ยอมรับและเกิดผลสูงสุดต่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะประเทศชาติในภาพรวม

admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ: 
2007-12-24