เงินเฟ้อ..ใครเดือดร้อน?

ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบโลกไม่มีทีท่าจะลดลงอย่างง่าย ๆ ตรงข้ามราคาน้ำมันกลับทำลายสถิติสูงสุดเป็นรายวัน ผลกระทบจากราคาน้ำมันดังกล่าว ได้สร้างความไม่แน่นอนและก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจประเทศในขณะนี้ โดยเฉพาะปัญหาค่าครองครองชีพของประชาชนและการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกด้วย

ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ประเด็นที่น่าสนใจคือเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ หรือส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มใดมากกว่ากัน

ภาวะเงินเฟ้อกระทบต่อคนจนมากกว่าคนรวย

จากตารางที่ 1 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อหรืออัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคในปี พ.ศ. 2550 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงราคาสินค้าของผู้บริโภคทั้งประเทศ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงต่ำกว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้มีรายได้น้อย และดัชนีราคาผู้บริโภคในเขตชนบท
ตารางที่ 1 อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคในปี พ.ศ. 2550 (ร้อยละเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน)
รายการ
ม.ค.
ก.พ.
มี.ค.
เม.ย.
พ.ค.
มิ.ย.
ก.ค.
ส.ค.
ก.ย.
1.ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป
3.4
2.6
2.3
2.1
2.2
2.2
2
1.3
2.4
1.1 หมวดอาหารและเครื่องดื่ม
7.2
6
4.4
3.9
4.7
6.3
5.9
5.1
4.5
1.2 หมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม
1.2
0.6
1.1
1
0.6
0
-0.3
-0.8
1.2
2.ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน *
1.7
1.4
1.4
1.3
0.7
0.7
0.8
0.7
0.8
3.ดัชนีราคาผู้มีรายได้น้อย
4.6
3.6
2.9
2.7
2.9
3.3
2.9
2.3
2.8
3.1 หมวดอาหารและเครื่องดื่ม
8.1
6.6
4.8
4.4
5.2
7
6.5
5.6
5
3.2 หมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม
1.5
1
1.3
1.1
0.9
0.2
-0.1
-0.5
1
4.ดัชนีราคาผู้บริโภคในเขตชนบท
5.9
5.4
4.4
4.1
4.3
6
5.2
4.3
5.8
4.1 หมวดอาหารและเครื่องดื่ม
12.5
11.8
8.5
7.5
8.1
12.9
11.4
10
10.2
4.2 หมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม
0.7
0.5
1.1
1.5
1.5
0.6
0.4
-0.2
2.4
* ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน คือดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่รวมรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคในเขตชนบทมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาคือดัชนีราคาผู้มีรายได้น้อย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดอื่น ๆ

จากข้อมูลข้างต้นจึงสรุปได้ว่า ภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันเกิดจากราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ โดยส่งผลกระทบต่อประชาชนในเขตชนบทมากกว่าในเขตเมือง และส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากกว่าผู้มีรายได้สูง

ทำไมผู้มีรายได้น้อยจึงได้รับผลกระทบมากกว่า

หากจะอธิบายผลกระทบของเงินเฟ้อในทางเศรษฐศาสตร์ โดยพิจารณาจาก Marginal Propensity of Consume: MPC หรือเรียกว่าความโน้มเอียงในการบริโภคหน่วยสุดท้าย (MPC คำนวณจากค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหารด้วยรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป) หรือหมายความว่า หากคนมีรายได้เปลี่ยนแปลงไป 1 หน่วย เขามีแนวโน้มใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าไร

โดยทั่วไปค่า MPC ของคนที่มีรายได้ต่ำจะมากกว่าคนที่มีรายได้สูง ยกตัวอย่าง คนรวยมีรายได้ 1 แสนบาทต่อเดือนและมีรายจ่ายเพื่อบริโภค 9 หมื่นบาทต่อเดือน ขณะที่คนจนมีรายได้ 1 พันบาทต่อเดือนและมีรายจ่าย 900 บาทต่อเดือน หากทั้งสองคนมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 คนรวยจะใช้เงินเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้นอีก 4 พันบาท หรือใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น 0.4 บาททุก ๆ 1 บาทของรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่คนจนจะใช้เงินเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้นอีก 70 บาท หรือใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น 0.7 บาททุก ๆ 1 บาทของรายได้ที่เพิ่มขึ้น

การที่อัตราเงินเฟ้อสูง หรือระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น หมายความว่า รายได้ที่แท้จริงของประชาชนลดลง กล่าวคือ ประชาชนมีกำลังซื้อลดลง เนื่องจากรายได้ที่เป็นตัวเงินเท่าเดิม แต่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้ใช้เงินที่มีอยู่ซื้อสินค้าได้น้อยลง การที่คนจนมีความโน้มเอียงในการบริโภคหน่วยสุดท้ายสูงกว่าคนรวย ภาวะเงินเฟ้อจึงทำให้คนจนได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคลดลงมากกว่าโดยเปรียบเทียบกับคนที่มีรายได้สูงกว่า

หากอธิบายอย่างง่าย ๆ แม้ราคาสินค้าในท้องตลาดจะแพงขึ้น คนที่มีรายได้สูงจะไม่เดือดร้อนมากนัก เพราะโดยปกติการจัดสรรรายได้ของคนรวย นอกจากใช้ซื้อสินค้าจำเป็นแล้ว ยังมีเงินจำนวนหนึ่งเหลือไว้ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย (สินค้าไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน) และเก็บออม เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น แม้ว่าจะทำให้มาตรฐานการบริโภคของคนกลุ่มนี้ลดลงไป แต่จะไม่กระทบมาตรฐานในส่วนที่จำเป็น กล่าวคือเขาสามารถลดการใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อนำมาซื้อสินค้าจำเป็น ทำให้รักษาการบริโภคสินค้าจำเป็นไว้ในระดับเดิมได้

ขณะที่คนที่มีรายได้น้อยไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะรายได้เกือบทั้งหมดต้องใช้สำหรับซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิต ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อจะทำให้คนที่มีรายได้น้อยบริโภคสินค้าจำเป็นได้น้อยลง เพราะไม่สามารถนำรายจ่ายในส่วนอื่นมาชดเชยการบริโภคสินค้าจำเป็นที่ลดลงไปได้ นี่คือสาเหตุที่ว่าเมื่อปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้นทำไมผู้มีรายได้น้อยต่างร้องโอดครวญไปตาม ๆ กัน
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์เม็งราย
เมื่อ: 
2007-12-16