เด็กออกกลางคัน ปมที่ต้องแก้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หมวดที่ 3 ส่วนที่ 8 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา มาตรา 49 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มีเนื้อหาเหมือนกันว่า "การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย"
ตามกฎหมาย เด็กทุกคนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งเด็กปกติ เด็กยากไร้หรืออยู่ในภาวะยากลำบาก เด็กพิการหรือทุพพลภาพ จะได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพและได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริง ยังมีเด็กจำนวนมากไม่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องตามที่กฎหมายกำหนด
ผลสำรวจจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ออกกลางคัน ปีการศึกษา 2549 ขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เกือบครบทุกแห่ง เหลือเพียง16 เขตพื้นที่ฯ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีนักเรียนออกกลางคันจำนวน 108,803 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 7,421,684 คน สาเหตุมาจากความยากจน การอพยพตามผู้ปกครอง ปัญหาครอบครัว ปัญหาการปรับตัว การต้องหาเลี้ยงครอบครัว การแต่งงานก่อนวัยอันควร การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ รวมถึงการต้องคดีหรือถูกจับ ฯลฯ ปัญหานักเรียนออกกลางคันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สำรวจร้อยละของนักเรียนต่อประชากรในวัยเรียน ปีการศึกษา 2544-2549 พบว่า ระหว่างปีการศึกษา 2547-2549 ประชากรวัยเรียนได้รับการศึกษาในช่วงชั้นที่ 1-2 (ป.1-ป.6) มากที่สุด ร้อยละ 100 แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงชั้นที่ 3 หรือมัธยมต้น (ม.1-ม.3) ได้ลดจำนวนลงทุกปีการศึกษา เหลือประมาณร้อยละ 90 และยิ่งลดลงมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงชั้นที่ 4 หรือมัธยมปลาย (ม.4-ม.6) เหลือประมาณร้อยละ 60 หมายความว่า ทุกปีมีนักเรียนจำนวนหนึ่งออกจากระบบการศึกษา

ปัญหาภายหลังผู้เรียนการออกกลางคัน

แท้จริงแล้ว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีมาตรการรองรับผู้เรียนที่เสี่ยงออกกลางคัน เช่น หนีเรียนเพราะเบื่อหน่าย ไม่มีความสุขกับการเรียน เป็นต้น โดยใช้การพัฒนาทักษะชีวิต และกระตุ้นให้เด็กตื่นตัว ในส่วนผู้เรียนที่จำเป็นต้องออกกลางคัน โรงเรียนจะดูแลจนกว่าจะเข้าโรงเรียนใหม่ ฯลฯ แต่ในทางปฏิบัติ โรงเรียนไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า เมื่อโรงเรียนพบกลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อการออกกลางคันแล้ว ไม่ได้มีแนวทางการดำเนินการหรือส่งต่อเด็กกลุ่มนี้ให้ไปในทิศทางใด และเด็กที่ออกกลางคันมีแนวโน้มเข้าสู่วงจรของปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด ก่ออาชญากรรม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเกิดจากโรงเรียนมักผลักผู้เรียนที่มีพฤติกรรมไม่ดีออกจากโรงเรียนมากกว่าแก้ปัญหาพฤติกรรมผู้เรียน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่าเด็กและเยาวชนที่เข้าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมต้น และเป็นเด็กที่โรงเรียนผลักออกมา เนื่องจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอภายหลังออกจากโรงเรียน
 
ทางแก้และป้องกันปัญหาผู้เรียนออกกลางคัน 
นอกจากบังคับใช้มาตรการรองรับผู้เรียนที่เสี่ยงออกกลางคันในโรงเรียนอย่างจริงจัง ตามที่ สพฐ. ได้กำหนดไว้แล้ว สามารถเพิ่มเติมในส่วนของการแก้ปัญหาเด็กที่มีปัญหาแตกต่างกันเข้าไปได้คือ

ผู้เรียนที่มีผลการเรียนไม่ดี
จัดโปรแกรมการเรียนการสอนเพื่อรองรับกลุ่มเด็กที่ออกกลางคัน จัดโปรแกรมการสอนพิเศษภาคฤดูร้อน สำหรับผู้เรียนที่มีปัญหาด้านการเรียน ติด "0, ร, มส." จนอาจทำให้ตัดสินใจออกกลางคัน โดย สพฐ. จัดเครือข่ายระหว่างโรงเรียนที่เด็กมีปัญหาผลการเรียนตกต่ำและโรงเรียนที่เก่งด้านวิชาการ เพื่อมาสอนผู้เรียนเป็นกรณีพิเศษ และคิดเป็นชั่วโมงเรียน

ผู้เรียนที่ไม่สามารถเรียนในระบบโรงเรียน
กรณีที่ผู้เรียนไม่สามารถศึกษาต่อในระบบโรงเรียน เนื่องจากเบื่อหน่ายระบบโรงเรียน ยากจน ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ควรโอนหน่วยกิตไปเรียนในโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ หรือจัดส่งผู้เรียนไปยังสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนตามอัธยาศัย ซึ่งผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนไปเทียบโอนการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าระดับปริญญาได้ นอกจากนี้ สพฐ. ควรร่วมมือกับนักสังคมสงเคราะห์ในจังหวัด เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำผู้เรียนในเรื่องการประกอบอาชีพ ฯลฯ

ผู้เรียนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ก่อความรุนแรง หนีเรียน ฯลฯ ไม่ควรใช้การผลักเด็กออกจากระบบการศึกษาทันที แต่ควรใช้วิธีการปรับพฤติกรรม เช่น ร่วมมือนักจิตวิทยามาทดสอบสภาพจิตใจของผู้เรียน เพื่อหาสาเหตุของพฤติกรรมและปรับพฤติกรรม และร่วมมือกับพ่อแม่ผู้ปกครองในการสอดส่องดูแลเด็ก อย่างไรก็ตาม เป็นคนละกรณีกับพฤติกรรมที่ต้องมีดำเนินคดี

ผู้เรียนออกกลางคันถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการก่อปัญหาทางสังคม ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขและจัดการกับปัญหา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงควรหันมาให้ความสำคัญกับผู้เรียนกลุ่มนี้มากขึ้น โดยใช้มาตรการที่ครอบคลุมทุกปัญหาที่อาจส่งผลของผู้เรียนออกกลางคัน เพื่อให้ผู้เรียนกลุ่มนี้ถูกทอดทิ้งเช่นที่ผ่านมา

admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ: 
2007-12-10