สร้างเกราะป้องกันการใช้ความรุนแรงในผู้เรียน

เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้นในฟินแลนด์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่สงบที่สุดแห่งหนึ่งของโลกคือ กรณีที่นักเรียนมัธยมวัย 18 ปี ใช้ปืนยิงนักเรียนและครูในโรงเรียนมัธยมโจเคล่า (Jokela High School) มีผู้เสียชีวิต 8 คน มือสังหารยิงศีรษะตัวเอง ภายหลังเหตุการณ์ยังไม่มีการระบุชัดถึงสาเหตุ แต่ครูคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า นักเรียนคนนี้เรียนดี มีผลการเรียนสูงกว่าระดับเฉลี่ย แต่สนใจเรื่องลัทธิใช้ความรุนแรงเป็นพิเศษ

การสังหารหมู่นี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในโรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยที่บ่งถึงความรุนแรงของเด็กและเยาวชนที่ต้องเร่งหาทางแก้ไขป้องกัน

ประเทศไทยเช่นกัน มีปรากฏการณ์ผู้เรียนใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงโครงการผลการติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนใช้ความรุนแรง พบว่า ในปี 2547-2549 เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมทะเลาะวิวาทมากที่สุด โดยในปี 2548 มี 1.09 พันราย เพิ่มเป็น 1.228 พันราย ในปี 2549

โครงการส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองสุขภาพและสิทธิมนุษยชนด้านเด็กเยาวชนและครอบครัว
มูลนิธิสุขภาพแห่งชาติทำการศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน (2549)กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนประถมศึกษาปี 4 - มัธยมศึกษาปี 3 ทั่วประเทศพบว่า เด็กร้อยละ 68.6 ถูกเพื่อนรังแกด้วยการด่า กลั่นแกล้ง แย่งของ ข่มขู่ และทำร้ายร่างกาย เดือนละ 2-3 ครั้งขึ้นไป อีกร้อยละ 20 สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง

โครงการ
Child Watch โดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ กล่าวว่า จากการสำรวจเด็กระดับมัธยม 7 หมื่นคน ทั่วประเทศ (กุมภาพันธ์ 2550) เรื่องการถูกทำร้ายคุกคาม พบว่า มีเด็กที่ได้รับความรุนแรงทางร่างกาย เช่น ตบ ตี เตะ ตื้บ ฯลฯ และทางคำพูด ประมาณร้อยละ 9-10

สาเหตุการก่อความรุนแรงในโรงเรียน

ครอบครัว เกม และสื่อมวลชน เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กก่อความรุนแรง
เด็กและเยาวชนที่ก่อปัญหาความรุนแรงส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น กรณีที่ครอบครัวเลี้ยงดูแบบลงโทษรุนแรง เผด็จการ และมีสัมพันธภาพที่ไม่ดีในครอบครัว จะส่งผลให้เด็กมองโลกในแง่ร้าย ไม่ไว้วางใจผู้อื่น เก็บกด และก้าวร้าว นอกจากนั้นเกมคอมพิวเตอร์ การนำเสนอภาพความรุนแรงของสื่อมวลชนบ่อยครั้ง ทำให้เด็กและเยาวชนซึมซับไว้ จนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาและเลียนแบบ

โรงเรียนมีส่วนบ่มเพาะความรุนแรง
ครูส่วนใหญ่จะใช้วิธีลงโทษผู้เรียนที่ก่อความรุนแรงด้วยการตี การทำร้ายจิตใจ เช่น ตะคอก สบประมาท เพิกเฉย ดูถูก ไม่พูดด้วย ฯลฯ เนื่องจากคิดว่าเป็นวิธีที่ควบคุมพฤติกรรมเด็กได้ ผลการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนทุกระดับ จังหวัดอุดรธานี (2549) ของสมัชชาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุดรธานี พบว่าการลงโทษของครูกว่าร้อยละ 77.3 ใช้วิธีการตี ร้อยละ 68.9 ใช้วิธีการตะคอกใส่นักเรียน และร้อยละ 54.1 ใช้การพูดสบประมาท ดูถูก ประชดประชัน การลงโทษด้วยวิธีดังกล่าว นอกจากไม่ได้แก้ไขปัญหาแล้ว ยังบ่มเพาะความรุนแรงในเด็กและเยาวชนอีกด้วย

แนวทางแก้ไขและป้องกันพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของผู้เรียน

ทดสอบและประเมินผลความฉลาดทางอารมณ์ของผู้เรียน
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต เพื่อพัฒนาวิธีทดสอบความฉลาดอารมณ์ของผู้เรียนแต่ละช่วงชั้น เพื่อประเมินและหาทางป้องกัน กรณีที่พบว่าผู้เรียนมีปัญหาด้านอารมณ์หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง อาจมีระบบติดตามผลหรือส่งผลต่อไปยังระดับการศึกษาที่สูงขึ้น เพื่อปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับครอบครัวในการแก้ไขและป้องกันปัญหาใช้ความรุนแรงในผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

สถานศึกษาควรจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้สามารถลดหรือผ่อนคลายความเครียด รวมถึงสามารถสร้างความสุขให้ตนเองได้ ดังตัวอย่างรัฐบาลอังกฤษจ้างนักจิตวิทยา ดร
.มาร์ติน เซลิกแมน (Martin E.P. Seligman) จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ร่างหลักสูตรและถ่ายทอดความรู้ให้ครู เพื่อนำเทคนิค และความรู้ต่างๆ ไปสอนให้นักเรียนในโครงการนำร่องในโรงเรียนรัฐบาลราว 2,000 คน ใช้ชื่อ ldquo;วิชาสร้างสุขrdquo; มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กสามารถลดความทุกข์ ลดพฤติกรรมต่อต้านสังคม และสร้างเสริมความมั่นใจในตัวเอง เป็นต้น

ให้ความรู้การแก้ไขและป้องกันการใช้ความรุนแรง
สถานศึกษาควรร่วมมือกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักปรับพฤติกรรมและนักจิตวิทยา เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่กลุ่มผู้บริหาร ครูแนะแนว ครูประจำชั้น ครูฝ่ายปกครอง รวมถึงกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองในการแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงของผู้เรียน รวมถึงการแนะนำวิธีสอน การเลี้ยงดู และการลงโทษผู้เรียนที่เหมาะสม

จำเป็นที่สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรกำหนดมาตรการพัฒนาผู้เรียนให้มีความฉลาดทางอารมณ์ มีทักษะการคิดและตัดสินใจอย่างเหมาะสม สามารถลดความเครียดและสร้างความสุขให้ตนเองได้ และมีระบบจัดการสถานศึกษาที่จะไม่เป็นปัจจัยบ่มเพาะการใช้ความรุนแรงในผู้เรียน รวมถึงกำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันพฤติกรรมใช้ความรุนแรงตั้งแต่ปฐมวัยต่อเนื่องสู่ระดับอุดมศึกษา
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2007-11-22