เขียนใบสมัครให้น่าเชื่อถือ ไม่ใช่น่าสงสัย!(2)

โลกวันนี้วันสุข
คอลัมน์ : HR Tips

การเขียนใบสมัครงานเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถเรียกร้องความสนใจให้ผู้อ่านสนใจใบสมัครของเรา เราจะทำอย่างไรให้เกิดความน่าเชื่อถือ ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วได้แนะนำไปแล้วว่าเราจะใช้คำว่าอะไรบ้าง สัปดาห์นี้เราจะเพิ่มหรือเสนอสิ่งที่แตกต่างอย่างไร

เพิ่มความเหมือนมากกว่าแตกต่าง นิโคล วิลเลียม (Nicole Williams) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพของลิงค์อิน วิเคราะห์ว่า คำเหล่านี้อาจจะทำให้ดูดี แต่ไม่เหมาะเมื่อนำมาใช้เพื่อเรียกคะแนนให้ตัวเองในใบสมัครงาน เพราะคนส่วนใหญ่ก็นิยมเขียนคุณสมบัติคล้ายๆกันเหล่านี้ลงไป เช่น มีความรับผิดชอบ มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นนักวางกลยุทธ์ ฯลฯ คำเหล่านี้แม้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ทำให้เราถูกกลืนไปกับคนอื่นๆด้วย ทำให้ไม่มีความโดดเด่นที่น่าสนใจ


คุณสมบัติพิเศษของเราอย่างไรคำถามคือ เราจะเขียนให้น่าเชื่อถือ?

ยกตัวอย่างยืนยัน "คุณสมบัติเด่น" นิโคล วิลเลียม ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจว่า การยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สะท้อนว่าเราเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ หรือเป็นนักวางแผนกลยุทธ์อย่างไร หรือมีคุณสมบัติเด่นอื่นๆอย่างไร ย่อมดีกว่าเพียงแต่ใช้คำพูดเหล่านั้น เพราะจะเห็นรูปธรรมในคุณสมบัติที่แตกต่างจากคนอื่น สะท้อนจุดเด่นที่แตกต่างของเราได้เด่นชัดขึ้น

จำไว้ว่าผลงานที่เราทำจะสะท้อนคุณลักษณะของเราได้ดีกว่าการบอกว่าเราเป็นอย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่าคุณสมบัติเด่นของเราสามารถส่งผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมได้

ให้บุคคลที่น่าเชื่อถือช่วย "พูดแทน" การมีหนังสือรับรองตัวเรา (recommendation) จาก บุคคลที่น่าเชื่อถือ อาจจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา หัวหน้างานเดิม หรือผู้ใหญ่ในสังคมที่เรารู้จัก ได้เขียนรับรองความรู้ความสามารถ ความประพฤติ รวมทั้งคุณสมบัติเด่น ย่อมสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับได้มากขึ้น

คนเหล่านี้จะช่วยพูดในสิ่งที่เราไม่ควรพูดเอง เช่น หากอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าเราเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูงย่อมน่าเชื่อถือกว่าการที่เราบอกว่าตัวเองเป็นคนมีความรับผิดชอบ หรือหากหัวหน้างานเดิมรับรองว่าเราเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ย่อมสร้างความน่าเชื่อถือกว่าที่เราพูดเอง เป็นต้น

ผู้สมัครงานที่มี "โอกาส" มากกว่า ไม่ใช่คนที่โปรโมตตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง แต่เป็นคนที่สามารถเข้าไปนั่งในใจผู้รับสมัครได้อย่างง่ายๆด้วยการตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่า เพราะเหตุใดต้องเลือกเรา โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆตกค้างในใจ

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://i.simpalsmedia.com/point.md/news/370x220/fac64e8644e54d3b98daac0c7265540c.jpg