'หาเสียงด้วยนโยบาย'บทเรียนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2012 มีเรื่องน่าสนใจให้ความรู้ข้อคิดดีๆ หลายประการ ประการหนึ่ง คือ การหาเสียงด้วยนโยบาย
ข้อสังเกตประการแรก คือ นำเสนอนโยบายที่มีรายละเอียดชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายสำคัญที่อยู่ในความสนใจมีข้อแตกต่างชัดเจน จะมีการเปรียบเทียบนโยบายเดียวกันระหว่างพรรคการเมือง ให้ทราบข้อดีข้อเสียที่แต่ละพรรคนำเสนอ
กรณีตัวอย่างระบบประกันสุขภาพ ที่มีปัญหารัฐต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่ประชาชนอีกจำนวนมากยังไม่ได้รับประโยชน์จากระบบดังกล่าว ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เห็นว่าปัญหานี้ต้องการแก้ไขโดยให้รัฐบาลกลางเข้าแทรกแซง เพื่อควบคุมหรือกึ่งควบคุมค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาล เช่น กำหนดแนวเวชปฏิบัติหรือแนวทางรักษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยกำหนดกรอบค่าใช้จ่าย ตรงข้ามกับที่นายมิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันเห็นว่า ระบบที่มีประสิทธิภาพช่วยลดค่าใช้จ่าย ในขณะที่ให้คุณภาพสูงสุดคือ ระบบการแข่งขันตามกลไกตลาด ต้องการให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้าร่วมแข่งขันให้บริการภายใต้ระบบประกันสุขภาพของประเทศ
การที่นโยบายมีรายละเอียดชัดเจนทำให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนแนวทางที่ตนยึดถือ สังคมเกิดการอภิปรายต่อยอดจนเกิดการตกผลึกทางความคิด รู้ว่าแต่ละแนวทางมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ผู้มีสิทธิออกเสียงรู้ว่าตนกำลังเลือกอะไร ผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร
ข้อสังเกตประการที่สอง คือ นโยบายมีรายละเอียดถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถถกเถียงตามหลักวิชาการได้
นโยบายที่มีรายละเอียดหลายหน้าหรือหลายสิบหน้าเป็นสิ่งดี แต่ต้องเป็นนโยบายที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ ผ่านการวิจัยตามหลักวิชาการ ไม่ใช่เกิดจากการยกเมฆการอ้างข้อมูลที่เลื่อนลอย เพราะจะเป็นเรื่องน่าแปลกอย่างยิ่ง หากนโยบายที่สร้างจากข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ผิดพลาดจะนำสู่ผลลัพธ์ที่ดี สังคมอเมริกาที่ยึดมั่นในความรู้จึงเรียกร้องนโยบายที่ผ่านการวิจัยอย่างรอบคอบ
การใช้งบประมาณเพื่อการวิจัยนโยบาย หลายสิบล้านดอลลาร์ นับว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับนโยบายหรือโครงการของรัฐที่ใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นหมื่นหรือแสนล้านดอลลาร์ ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ นโยบายเหล่านี้จะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน มีผลต่อสุขภาพของผู้คน มีผลต่ออนาคตของประเทศ สิ่งเหล่านี้มีค่าเกินกว่าจะวัดด้วยตัวเงินได้
การหาเสียงเรื่องนโยบายภาษี มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ประธานาธิบดีโอบามา โจมตีนโยบายของนายรอมนีย์ที่จะปรับลดภาษีแก่ทุกคนว่า แผนภาษีของนายรอมนีย์จะทำให้รัฐบาลขาดดุลเพิ่มขึ้น ไม่ช่วยเพิ่มการจ้างงาน และเรียกร้องให้นายรอมนีย์เสนอหลักฐานข้อมูลที่ตั้งอยู่บนหลักวิชาการ ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า "มันเป็นตัวเลข เป็นคณิตศาสตร์" สามารถคำนวณตีแผ่ให้เห็นอย่างชัดเจน
ข้อสังเกตประการที่ 3 บทบาทของสื่อมวลชนที่เกาะติดนำเสนอข้อเท็จจริง ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจะต้องประกอบด้วย พลเมือง องค์กรสังคมที่มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจัง หาไม่แล้วจะกลายเป็นระบบอำนาจนิยมรูปแบบหนึ่งที่ตั้งอยู่บนโครงสร้างเปลือกนอกแบบประชาธิปไตย ความเข้มแข็งของการมีส่วนร่วมส่วนหนึ่งดูได้จากความเข้มแข็งของสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาบนฐานข้อเท็จจริง
สื่อมวลชนอเมริกาแสดงความเป็นมืออาชีพ มีความรู้ความเข้าใจและเกาะติดประเด็นอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเด็นนโยบายด้านภาษี สื่อบางสำนักเสนอข่าวว่านโยบายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโอบามา มีรายละเอียดน้อยเกินไป เรียกร้องให้เสนอแผนที่มีรายละเอียดมากกว่านี้
ทำนองเดียวกับนโยบายของนายรอมนีย์ ที่จะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลโดยไม่ทำให้รัฐขาดดุลเพิ่ม สื่อมวลชนจี้ถามรายละเอียดของแผนว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร นายพอล ไรอัน ผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของนายรอมนีย์ตอบเพียงว่า "การทำให้เศรษฐกิจเติบโตเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่ช่วยให้ (รัฐ) จัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น"
การไม่นำเสนอรายละเอียดนโยบายที่ชัดเจน กลายเป็นโอกาสแก่ฝ่ายตรงข้ามคอยโจมตีว่าซ่อนรายละเอียดบางอย่างที่เกรงว่าหากนำเสนอออกไปจะทำให้เสียคะแนน และทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายดังกล่าว
สื่อมวลชนที่เกาะติดนำเสนอข้อเท็จจริงเป็นอีกองคาพยพที่ช่วยเกื้อหนุนให้คนอเมริกันสามารถตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างมีข้อมูลครบถ้วนมากขึ้น
แม้ว่าการหาเสียงด้วยนโยบายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ได้สมบูรณ์ดีเลิศเสียทุกอย่างมีจุดอ่อนเช่นกัน แต่ข้อสังเกตทั้งสามประการ คงเป็นข้อคิดที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทย
ข้อเสนอแนะ คือ ให้ทุกพรรคนำเสนอว่าจะใช้งบประมาณอย่างไรโดยละเอียด โดยคิดจากจำนวนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ภายใต้งบประมาณที่ตั้งขึ้นอย่างสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ จะใช้ในแต่ละกระทรวงกี่เปอร์เซ็นต์ นโยบายหรือโครงการสำคัญ ๆ จะต้องใช้งบประมาณคิดเป็นเงินจำนวนเท่าไร
ภายใต้หลักคิดว่า เงินภาษีทุกบาทคือเงินของประชาชน ทำอย่างไรจึงจะใช้อย่างคุ้มค่า ตรงใจประชาชน และสร้างชาติให้พัฒนาอย่างยั่งยืน
เงิน 1 บาทที่รัฐบาลใช้ไปในโครงการหนึ่ง เท่ากับสูญเสียเงิน 1 บาทนั้นกับโครงการอื่น ๆ จะมีผู้ได้ประโยชน์มากกว่ากับผู้ได้ประโยชน์น้อยกว่า ประชาชนมีสิทธิรับรู้ แสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจ
กระบวนการดังกล่าวจะกระตุ้นเกิดการถกเถียงในสังคม ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ทุกเรื่องทุกนโยบายผ่านการชั่งน้ำหนักแล้วว่าเป็นวิธีการใช้งบประมาณอย่างเกิดประโยชน์ที่สุด
ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนเจ้าของประเทศเข้าใจอย่างชัดเจนถูกต้องตามหลักวิชาการว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะนำพาประเทศอย่างไร เงินภาษีถูกใช้อย่างไร เพื่อใคร ใช้มากใช้น้อยเพียงใด
การทำเช่นนี้อาจต้องใช้เวลาช่วงหาเสียงนานขึ้น เพื่อให้สังคมมีเวลาอย่างเพียงพอในการทำความเข้าใจ แต่บางเรื่องพรรคการเมืองทำได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงช่วงหาเสียง ยกตัวอย่างเช่นในอเมริกา ประเด็นการทำแท้งเสรีเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่สังคมอเมริกันถกเถียงกันมานานแล้ว พรรคเดโมแครต สนับสนุนการทำแท้งเสรี ส่วนพรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วย ยกเว้นกรณีถูกข่มขืน การล่วงประเวณีกับคนที่มีเชื้อสายใกล้ชิดมาก (เช่นภายในครอบครัวเดียวกัน) หรือเสี่ยงทำให้มารดาเสียชีวิต เรื่องนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่สังคมอเมริกันถกเถียงกันมานานและยังจะถกเถียงกันต่อไป
นโยบายลงทุนระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่ละพรรคควรทำหน้าที่นำเสนอนโยบายของตนว่าจะทำอย่างไร ใช้งบกี่ล้าน แหล่งเงินลงทุนมาจากที่ใด ข้อดีข้อเสียต่างๆ ให้สังคมได้ถกกันอย่างละเอียด เห็นแนวทางร่วมกันว่าควรไปทิศทางใด
พรรคการเมืองในประเทศเรา ไม่ควรคิดว่า เนื้อหาแบบนี้ยากเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจ ในทางตรงกันข้าม ประเด็นที่มีเนื้อหามากเข้าใจยาก ยิ่งต้องพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจหาวิธีนำเสนอที่คนทั่วไปจะเข้าใจอย่างถูกต้องในเวลาสั้นที่สุด และให้เวลาอย่างเพียงพอเพื่อทำความเข้าใจอย่างครบถ้วน
สรุปคือ พรรคการเมืองต้องศึกษาทุกนโยบายก่อนนำเสนอ สังคมต้องถกเถียงข้อดีข้อเสีย เมื่อตกผลึกทางความคิดแล้วประชาชนจึงค่อยตัดสินใจเลือกอย่างมีสติ การหาเสียงด้วยนโยบายจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นพื้นฐานสร้างระบอบประชาธิปไตยแท้บนการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างเข้มแข็ง
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com