สุขสภาพจากการสัมผัส-โอบกอด (Touch-Hug Wellness)
การสัมผัส ซึ่งรวมถึงการสัมผัสตัว การจับมือ จูบ การโอบกอด ดูเหมือนเป็นเพียงการแสดงออกของความรัก ความเป็นมิตร และความสัมพันธ์ที่ดี แต่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พบว่า การสัมผัสส่งผลไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความสุข แต่ยังทำให้สุขภาพดี ซึ่งอาจทำให้มีชีวิตยืนยาวในที่สุด (Field, 2011) การสัมผัสเป็นกิจกรรมที่สามารถสื่อสารอารมณ์ไปยังผู้ที่ถูกสัมผัสได้ การทดลองที่ออกแบบให้อาสาสมัครได้รับการสัมผัส โดยมองไม่เห็นผู้ที่มาสัมผัสและการสัมผัสนั้น แล้วให้อาสาสมัครทายอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่ง พบว่า กลุ่มคนที่เข้าทำการทดลองมากกว่าครึ่งหนึ่งสามารถทายอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างถูกต้อง (Hertenstein et al., 2006 & 2009) การสัมผัสจึงเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกไปยังผู้ถูกสัมผัส การสัมผัสด้วยความรักและปรารถนาดีจึงเป็นการส่งสัญญาณไปให้ผู้รับได้รับกำลังใจและมีความสุข
เมื่อพิจารณาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น การสัมผัส-โอบกอดด้วยความรัก รวมถึงการนวด จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย โดยเฉพาะการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดที่ทำให้เกิดความสุข อาทิ โดปามีน ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความเป็นอยู่ที่ดี (Jakubiak & Feeney, 2017) ออกซิโทซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ทำให้เกิดความรักและความผูกพัน ลดความกลัว และเพิ่มความรู้สึกปลอดภัย ลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ (Holt-Lunstad et al., 2008; Light et al., 2005) และเซโรโทนิน ที่ทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Hernandez-Reif et al., 2004) การทดลองเชิงปฏิบัติการซึ่งแบ่งคู่สมรสออกเป็น 2 กลุ่ม คู่สมรสกลุ่มแรกให้จับมือกัน 10 นาที ระหว่างชมภาพยนตร์รักโรแมนติกและกอดกัน 20 วินาที ส่วนคู่สมรสกลุ่มที่สองให้นั่งกันอยู่เงียบ ๆ ไม่ได้สัมผัสตัวกันในเวลาเท่ากัน หลังจากนั้นจึงมอบหมายให้คู่สมรสทำกิจกรรมที่มีความเครียด ผลการทดลองพบว่า คู่สมรสกลุ่มแรกมีการตอบสนองต่อความเครียดน้อยกว่ากลุ่มที่สอง (Grewen et al., 2003)
ความสำคัญของการสัมผัสต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะความเครียดซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมทางสังคม อาจแสดงให้เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโรมาเนียในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อนิโคไล เชาเชสกู (Nicolae Ceaușescu) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของโรมาเนีย ผู้นำเผด็จการคอมมิวนิสต์ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประชากรเพื่อขยายการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อบังคับให้ชาย-หญิงมีลูกหลายคน เด็กทารกจำนวนมากถูกกีดกันจากมารดา และถูกเลี้ยงดูในสถาบันที่ขาดแคลนผู้ดูแลเด็ก ส่งผลทำให้เด็กเติบโตมาโดยขาดการดูแลเอาใจใส่ ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่แสดงออกทางอารมณ์ สีหน้าที่ว่างเปล่า การถอนตัวจากสังคม และการเคลื่อนไหวที่แปลกประหลาด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดได้ทำการทดสอบเด็กในโครงการที่มีการดูแลเด็กที่ดีกว่าโดยมีผู้ดูแล 1 คนต่อเด็ก 4 คน เปรียบเทียบกับเด็กในกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลในสถาบันที่มีผู้ดูแลเด็ก 1 คนต่อเด็ก 20 คน ผลการวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับการดูแลใกล้ชิดมีระดับความเครียดต่ำกว่า (วัดสารคอร์ติซอลในน้ำลาย) เด็กที่ได้รับการดูแลไม่ดี (Carlson & Earls, 1997) ด้วยเหตุนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขของไทย จึงส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน เพราะนอกจากจะได้รับสารอาหารที่ดีแล้ว ความใกล้ชิด การกอดและสัมผัสกัน จะทำให้เกิดสายใยความรักผูกพัน และทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาและอารมณ์ (IQ & EQ) (กรมอนามัย, 2562)
การสัมผัสยังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และช่วยป้องกัน บรรเทา และรักษาอาการของโรคและความเจ็บป่วยต่าง ๆ การวิจัยหลายชิ้นพบว่า การสัมผัสในเชิงบวกช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่ช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ เช่น การเพิ่มเซลล์ NK (Natural Killer Cells) เซลล์เม็ดเลือดขาว โปรตีน IGA (Immunoglobulin A) เป็นต้น (Field, 2011; Minton, 2018; East West College, 2014) การวิจัยที่ทดลองให้ผู้ใหญ่ที่แข็งแรง 404 คนได้รับเชื้อหวัด พบว่า ผู้ที่ได้รับการกอดบ่อยครั้ง จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อหวัด ส่วนผู้ที่ติดเชื้อหวัดจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่า (Cohen et al., 2015) เช่นเดียวกับทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่ได้รับการบำบัดโดยการนวดหรือสัมผัสเป็นเวลา 5-10 วัน จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 และอยู่ในโรงพยาบาลน้อยกว่าทารกที่ไม่ได้รับการบำบัดด้วยวิธีดังกล่าว (Field et al., 2010) การบำบัดด้วยการนวดและสัมผัสให้แก่ผู้ที่เป็นมะเร็ง พบว่าช่วยลดการเจ็บปวด ความหดหู่ และความวิตกกังวลได้ในระยะสั้น (Kutner et al., 2008) ส่วนผลในระยะยาว ประกอบด้วย การลดภาวะซึมเศร้าและความโกรธ เพิ่มฮอร์โมนความสุข และภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Hernandez-Reif et al., 2004)
นอกจากนี้ การสัมผัส-โอบกอดยังเป็นตัวช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น การสัมผัสทำให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเองและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น เนื่องจากการสัมผัสจะช่วยกระตุ้นคอร์เทกซ์ (Orbitofrontal Cortex) ที่อยู่ด้านหน้าของสมอง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของสมองที่เกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ (Rolls, 2000) การสัมผัสยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัว คนรัก และเพื่อน เนื่องจากการสัมผัสทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนออกซิโทซินที่ช่วยทำให้เกิดความไว้วางใจกัน (Kosfeld et al., 2005) ทั้งนี้การศึกษาในสัตว์ตระกูลลิง พบว่า การสัมผัสเป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการตอบแทนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น (Jablonski, 2021)
คำถามคือ แล้วเราควรสัมผัสหรือกอดกันเท่าไรจึงจะเพียงพอ คำตอบคือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และเหมาะสมกับกาลเทศะ งานวิจัยของนักจิตวิทยา Sidney Jourard (1966) ได้สำรวจพฤติกรรมของเพื่อนที่สนทนากันในร้านกาแฟว่า มีการสัมผัสกันกี่ครั้งในหนึ่งชั่วโมง การสำรวจพบว่า ในฝรั่งเศส คนสัมผัสกัน 110 ครั้งต่อชั่วโมง คนในเปอโตริโกสัมผัสกัน 180 ครั้งต่อชั่วโมง ในสหรัฐอเมริกามีการสัมผัสกันเพียง 2 ครั้ง และในอังกฤษ ไม่ได้แตะต้องกันเลย ผลการสำรวจนี้เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับการจัดอันดับความชุกของคนอายุยืนของล็อตตี้ (Lottie) พบข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ประเทศเปอโตริโกติดอันดับ 6 ของประเทศที่มีอัตราส่วนศตวรรษิกชนต่อประชากร 1 แสนคนมากที่สุด ฝรั่งเศส อันดับ 9 สหรัฐฯ อันดับ 11 และสหราชอาณาจักร อันดับ 23 (Donnelly, 2022; Fitzgerald, 2022) ประเด็นที่ควรจะทำการศึกษาต่อไปคือ คือ จำนวนการสัมผัสมีความสัมพันธ์กับการมีอายุยืนอย่างไร ส่วนคำแนะนำสำหรับครอบครัว Virginia Satir นักครอบครัวบำบัดชื่อดัง แนะนำให้คู่สมรสกอดกันบ่อย ๆ โดยระบุว่า กอด 4 ครั้งต่อวันเพื่อความอยู่รอด กอด 8 ครั้งต่อวันเพื่อธำรงรักษา และ กอด 12 ครั้งต่อวันเพื่อการเติบโต (Mooney, 1995)
บรรณานุกรม
กรมอนามัย. (2562). กิน กอด เล่น เล่า” สร้างพัฒนาการเด็ก. AnamaiMedia. https://multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/hug/
Carlson, M. & Earls, F. (1997). Psychological and neuroendocrinological sequelae of early social deprivation in institutionalized children in Romania. Ann N Y Acad Sci., 807, 419-28. https://doi.org/10.1111/j.1749-6632.1997.tb51936.x
Cohen, S., Janicki-Deverts, D., Turner, R. B., & Doyle, W. J. (2015). Does hugging provide stress-buffering social support? A study of susceptibility to upper respiratory infection and illness. Psychol Sci., 26(2), 135-47. https://doi.org/10.1177/0956797614559284.
Donnelly, W. (2022). 100 YEARS YOUNG: IN WHICH AREAS WILL YOU FIND THE MOST UK CENTENARIANS? Lottie, July 4. https://lottie.org/data-insight/where-most-UK-centenarians-live/
East West College. (2014). The Benefits of Touch across the Human Lifespan. https://www.eastwestcollege.com/the-benefits-of-touch-across-the-human-lifespan/
Field, T. (2011). Touch for socioemotional and physical well-being: A review. Developmental Review, 30(4), 367-383. https://doi.org/10.1016/j.dr.2011.01.001
Field, T., Diego, M., & Hernandez-Reif, M. (2010). Preterm infant massage therapy research: a review. Infant Behav Dev., 33(2), 115-24. https://doi.org/10.1016/j.infbeh.2009.12.004.
Fitzgerald, M. (2022). These Are the Nations With the Most People Over 100: The top three places with the most centenarians are all islands in the Caribbean. U.S. News, July 15. https://www.usnews.com/news/best-countries/articles/2022-07-15/nations-with-the-most-people-over-100
Grewen, K. M., Anderson, B. J., Girdler, S. S., & Light, K. C. (2003). Warm partner contact is related to lower cardiovascular reactivity. Behav Med. 29(3), 123-30. https://doi.org/10.1080/08964280309596065
Hernandez-Reif, M., Ironson, G., Field, T., Hurley, J., Katz, G., Diego, M., Weiss, S., Fletcher, A. M., Schanberg, S., Kuhn, C., & Burman, I. (2004). Breast cancer patients have improved immune and neuroendocrine functions following massage therapy. Journal of Psychosomatic Research, 57(1), 45-52. https://doi.org/10.1016/S0022-3999(03)00500-2
Hertenstein, M. J., Keltner, D., App, B., Bulleit, B. A., & Jaskolka, A. R. (2006). Touch communicates distinct emotions. Emotion, 6(3), 528–533. https://doi.org/10.1037/1528-3542.6.3.528
Hertenstein, M. J., Holmes, R., Keltner, D., & McCullough, M. (2009). The Communication of Emotion via Touch. Emotion, 9(4), 566–573. https://doi.org/10.1037/a0016108
Holt-Lunstad, J., Birmingham, W. A., & Light, K. C. (2008). Influence of a “Warm Touch” Support Enhancement Intervention Among Married Couples on Ambulatory Blood Pressure, Oxytocin, Alpha Amylase, and Cortisol. Psychosomatic Medicine, 70(9), 976-985. https://doi.org/10.1097/PSY.0b013e318187aef7
Jablonski, N. G. (2021). Social and affective touch in primates and its role in the evolution of social cohesion. Neuroscience, 464, 117-125. https://doi.org/10.1016/j.neuroscience.2020.11.024
Jakubiak, B. K. & Feeney, B. C. (2017). Affectionate Touch to Promote Relational, Psychological, and Physical Well-Being in Adulthood: A Theoretical Model and Review of the Research. Pers Soc Psychol Rev., 21(3), 228-252. https://doi.org/10.1177/1088868316650307
Jourard, S. M. (1966). An Exploratory Study of Body Accessibility. British Journal of Social and Clinical Psychology, 5(3), 221–231. https://doi.org/10.1111/j.2044-8260.1966.tb00978.x
Kosfeld, M., Heinrichs, M., Zak, P. et al. (2005). Oxytocin increases trust in humans. Nature, 435, 673–676. https://doi.org/10.1038/nature03701
Kutner, J. S., Smith, M. C., Corbin, L. et al. (2008). Massage Therapy versus Simple Touch to Improve Pain and Mood in Patients with Advanced Cancer: A Randomized Trial. Annals of Internal Medicine, 149(6), 369-379. https://doi.org/10.7326/0003-4819-149-6-200809160-00003
Light, K. C., Grewen, K. M., & Amico, J. A. (2005). More frequent partner hugs and higher oxytocin levels are linked to lower blood pressure and heart rate in premenopausal women. Biol Psychol., 69(1), 5-21. https://doi.org/10.1016/j.biopsycho.2004.11.002
Minton, K. (2018). Immune response by touch. Nat Rev Immunol., 18(12), 730-731. https://doi.org/10.1038/s41577-018-0090-7
Mooney, A. (1995). Four hugs a day using therapeutic touch. Br J Theatre Nurs., 5(7), 25-7.
Rolls, E. T. (2000). The orbitofrontal cortex and reward. Cereb Cortex, 10(3), 284-94. https://doi.org/10.1093/cercor/10.3.284