สิงคโปร์ : ต้นแบบแห่งสังคมรักการอ่านหนังสือ
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.writeeditions.com/wp-content/uploads/2011/01/writeedition-books.pn
ประโยชน์จากการอ่านหนังสือนอกจากจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ผู้อ่านแล้ว การอ่านหนังสือยังประกอบไปด้วยประโยชน์อีกหลากหลายประการ
อาทิเช่น ช่วยเพิ่มศักยภาพในการเขียน การคิด และการวิเคราะห์ รวมถึงทักษะทางด้านความจำ การเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จากสถิติพฤติกรรมการอ่านหนังสือปี 2554 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า คนไทยให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือน้อยมากโดยคนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยเพียง 2 - 5 เล่มต่อปีเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากประเทศสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือเป็นอย่างมาก เพราะประชากรสิงคโปร์อ่านหนังสือโดยเฉลี่ยคิดเป็น 50 - 60 เล่มต่อปี (คมชัดลึก, 2 ต.ค. 2555)
คำถามที่น่าสนใจ คือ เหตุใดคนสิงคโปร์จึงอ่านหนังสือมากกว่าคนไทยกว่า 10 เท่า?
บทความชิ้นนี้จะกล่าวถึงปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ช่วยส่งเสริมให้คนสิงคโปร์มีค่านิยมและให้ความสำคัญในการอ่านหนังสืออย่างมาก
ปัจจัยที่ 1 : การส่งเสริมค่านิยมรักการอ่านของประเทศอย่างเป็นระบบ
ปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคนในประเทศให้รักการอ่านหนังสือคือ การมียุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยนโยบายที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือการส่งเสริมค่านิยมรักการอ่านในวัยเด็ก เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่สามารถปลูกฝังค่านิยมรักการอ่านได้ดีที่สุด โดยเน้นให้พ่อแม่อ่านหนังสือและทำกิจกรรมร่วมกับลูกเป็นหลัก
ห้องสมุดสิงคโปร์ยังมีสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ มีมาตรฐานระดับสากล และเหมาะแก่การพัฒนาการอ่านในวัยเด็ก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษมากมาย เช่น การจัดอบรมโครงการสร้างนักอ่าน (Raise-A-Reader) ให้กับคุณครู พ่อแม่ และบุตรหลานอายุระหว่าง 0 - 9 ปี กิจกรรมการส่งเสริมการเล่านิทาน และกิจกรรมพิเศษมากมายในช่วงวันหยุด หรือแม้จะเป็นโครงการทูตกิจกรรมการอ่านหนังสือวัยจิ๋ว (Junior Reading Ambassador) ซึ่งถือเป็นโครงการที่เน้นให้การอ่านเปรียบเสมือนกิจกรรมยามว่างที่สนุกและมีคุณค่า เพิ่มความมั่นใจและความเป็นผู้นำในวัยเด็กอีกด้วย และที่สำคัญโครงการนี้ยังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหอสมุดแห่งชาติกับโรงเรียนต่างๆ ภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
นอกเหนือจากการส่งเสริมการอ่านในวัยเด็ก ประเทศสิงคโปร์ยังส่งเสริมการอ่านของเยาวชนและวัยอื่นๆ ผ่านหลายโครงการ เช่น โครงการ Read Singapore ที่มีการทำห้องสมุดเคลื่อนที่ (Pop-up library) ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำให้ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกช่วงอายุในประเทศเข้าถึงหนังสือที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีทีมส่งเสริมให้เกิดชมรมนักอ่าน (Book club) ที่จัดกิจกรรมทั้งในภาษาจีน ภาษามาเลย์ และภาษาทมิฬ (สำหรับคนอินเดียบางส่วน) รวมแล้วมากกว่า 100 แห่งทั่วสิงคโปร์ ทั้งในชุมชน ใน
องค์กรภาครัฐและองค์กรภาคธุรกิจ รวมทั้งช่วยจัดฝึกอบรมคนให้เป็นผู้อำนวยการประชุม (Facilitator) ในชมรมนักอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ปัจจัยที่ 2 : ระบบการศึกษาและแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
การที่ประเทศสิงคโปร์มีวิสัยทัศน์และให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทำให้สิงคโปร์มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นลำดับต้นของโลก นโยบายการศึกษายังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศมีค่านิยมรักการอ่านได้อย่างมีประสิทธิผล เช่น นโยบายการศึกษา ?Teach Less Learn more? ที่ครูไม่ได้เป็นศูนย์กลาง ไม่เน้นการบอกเล่าของครูผู้สอน แต่ทำหน้าที่ในการท้าทายความคิดของเด็ก สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างสร้างสรรค์ผ่านการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) หรือการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) ทำให้เด็กคิด ถามคำถาม อยากเรียนรู้ สนใจค้นคว้าหาข้อมูล อ่านหนังสือในสิ่งที่ตนเองกำลังทำและสนใจ ซึ่งมีผลทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนและอ่านหนังสือเพื่อให้ได้ประโยชน์ไม่ใช่เพื่อการสอบเท่านั้น
จากการที่ระบบการศึกษาของสิงคโปร์เน้นให้ครูสอนเด็กน้อยลง ดังนั้น สิงคโปร์จึงสร้างและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ให้มีมากขึ้นเพื่อรองรับนโยบายทางการศึกษาดังกล่าว เช่น ห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ที่นอกจากจะมีคุณภาพระดับโลก ยังเป็นเสมือนแหล่งการเรียนรู้ที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้กับคนในประเทศและส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของประเทศได้เป็นอย่างดี
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ส่งคนไปดูงานเกี่ยวกับระบบห้องสมุดในประเทศสิงคโปร์มาแล้วเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมนั่นคือ ห้องสมุดในประเทศไทยยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้มีมาตรฐาน และเพียงพอต่อจำนวนประชากร ห้องสมุดในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อที่จะสามารถกระตุ้นพฤติกรรมของคนไทยให้มีค่านิยมรักการอ่านเช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์
ปัจจัยที่ 3 : การมีส่วนร่วมของสังคม
เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์ได้พยายามผลักดันให้การอ่านหนังสือเป็นวาระแห่งชาติชุมชนและองค์กรต่างๆ ในประเทศสิงคโปร์จึงพยายามเข้ามามีบทบาทเพื่อทำให้วัฒนธรรมการอ่านหนังสือของประเทศกลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง กลุ่มหรือชุมชนหลายแห่งในประเทศสิงคโปร์มีความพยายามสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่คนในประเทศ
ตัวอย่างชุมชนที่มีบทบาทโดดเด่น คือ National University of Singapore Literary Society (สังคมการอ่านออกเขียนได้แห่งมหาวิทยาลัยสิงคโปร์แห่งชาติ) ซึ่งก่อตั้งในปี 1961 โดยมีจุดประสงค์ในการแบ่งปันประสบการณ์วัฒนธรรมด้านวรรณกรรมให้แก่เยาวชนและนักเขียนในสิงคโปร์ เช่น การจัดกิจกรรมการแข่งขันการเขียนเชิงสร้างสรรค์ (Creative Writing) เป็นต้น
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ กลุ่ม Book and Beer ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้คนสิงคโปร์รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนหนังสือที่อ่านแล้ว พร้อมกับร่วมดื่มเครื่องดื่มต่างๆ ระหว่างการอ่านหนังสือร่วมกัน กลุ่ม Book and Beer ถือเป็นกลุ่มที่รวมตัวคนชอบอ่านหนังสือเข้ามาแบ่งประสบการณ์และสาระดีๆ จากหนังสือที่ตนอ่าน
นอกจาก NUS Literary Society และ Book and Beer แล้วยังมีชุมชนคนรักหนังสือจำนวนมากที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมการอ่านหนังสือคือสิ่งที่สำคัญระดับชาติไปแล้ว
สำหรับประเทศไทย เราสามารถเอาแบบอย่างของประเทศสิงคโปร์ ไปประยุกต์และปรับใช้ในการส่งเสริมให้คนไทยมีค่านิยมและวัฒนธรรมในการรักการอ่านได้ทั้งนี้เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้ง 3 ประการข้างต้นมีหลายคำถามที่รัฐบาลและคนไทยทุกคนต้องช่วยกันตอบ อาทิเช่น ประเทศไทยจะสามารถส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอย่างเป็นระบบในทุกวัยได้อย่างไร? นโยบายการศึกษาแบบใดที่เหมาะสมสำหรับเด็กไทย? เราควรปรับปรุงและเพิ่มจำนวนแหล่งการเรียนรู้ในประเทศอย่างไร? หรือแม้กระทั่งจะทำอย่างไรให้ชุมชนต่างๆ ในประเทศเป็นชุมชนที่รักการอ่านเหมือนสิงคโปร์?
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.fearfuladventurer.com/wp-content/uploads/2013/04/highs-lows-book-launch1.jpg