การรับมือความผันผวนของราคา
เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?
สถานการณ์ปัจจุบันดูเหมือนว่าหลายภาคเศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาความไม่แน่นอนของราคา โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดกำลังเผชิญปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เช่น ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ปุ๋ย น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจำนวนมาก
สถานการณ์ปัจจุบันดูเหมือนว่าหลายภาคเศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาความไม่แน่นอนของราคา
ระดับราคาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นภาวะปกติของระบบเศรษฐกิจหรือตลาดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สาเหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยหรือการแทรกแซงภายนอก โดยมีสาเหตุสำคัญๆ 4 ประการ ได้แก่
1) วัฏจักรธุรกิจ (Business cycle) เป็นสภาวะที่รายได้ประชาชาติหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความผันผวนขึ้น-ลงสลับกันไป โดยลักษณะของความผันผวนประกอบไปด้วย 4 ช่วง คือสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ฟื้นตัว รุ่งเรือง และถดถอย ซึ่งระดับราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวและรุ่งเรือง แต่มีแนวโน้มต่ำลงในช่วงตกต่ำและถดถอย
2) ฤดูกาลทางธรรมชาติของผลผลิต โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีฤดูกาลที่ผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมากทำให้ราคาของผลผลิตตกต่ำลง ในขณะที่นอกฤดูกาลผลิตจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยทำให้ราคาผลผลิตสูงขึ้น
3) การเปลี่ยนแปลงนโยบายการแทรกแซงราคา รัฐบาลมักดำเนินนโยบายแทรกแซงกลไกราคา โดยมีวัตถุประสงค์ที่เปิดเผยเพื่อสร้างหลักประกันหรืออุดหนุนด้านรายได้ให้แก่ผู้ผลิตสินค้าบางประเภท หรือรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าบางชนิด (หรือมีวัตถุประสงค์โดยไม่เปิดเผยเพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง) แต่นโยบายดังกล่าวมักมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือเมื่อรัฐบาลต้องเผชิญความเสี่ยงทางการคลังจากการใช้นโยบายนี้ การแทรกแซงราคาทำให้ราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาตลาดส่งผลทำให้ผู้ประกอบการมีความคาดหวังที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าในอนาคต เมื่อราคามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างรุนแรง
4) การเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงของเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความผันผวนที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างรวดเร็วและการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลก ยกตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าส่งออกและนำเข้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นตลาดหลักของไทยทำให้สินค้าหลายชนิดมีราคาต่ำลง
ความไม่แน่นอนของระดับราคาสินค้าและบริการนับเป็นปัญหาสำคัญผู้ผลิตจำนวนหนึ่งในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของราคาผลผลิตหรือการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่นอกเหนือจากความคาดหมาย ซึ่งทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้ปริมาณผลผลิตมากหรือน้อยเกินกว่าความต้องการของตลาด
ตัวอย่างเช่น หากภาครัฐประกันราคาผลผลิตบางประเภทสูงกว่าราคาตลาดจะส่งผลทำให้ผู้ผลิตหันมาผลิตสินค้ามากขึ้นนำไปสู่ปัญหาผลผลิตล้นตลาด แต่เมื่อภาครัฐไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับประกันราคาผลผลิตจะส่งผลทำให้ราคาของผลผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว หรือหากต้องเผชิญกับสภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำ จะส่งผลให้ผู้ผลิตอาจต้องเผชิญภาวะขาดทุนอย่างรุนแรง
จะเห็นได้ว่า ความผันผวนของราคาส่วนหนึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติของระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลกระทบของความผันผวนดังกล่าวได้ การหวังให้รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนหรือแทรกแซงตลาดเป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นที่ไม่ยั่งยืน สถานประกอบการหรือหน่วยผลิตจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถเผชิญความเสี่ยงดังกล่าวได้ โดยมีหลักการสำคัญในการพัฒนาดังต่อไปนี้
ประการแรก การเข้าถึงข้อมูลและการคาดการณ์อนาคต ผู้ผลิตจำนวนมากโดยเฉพาะในภาคเกษตร วางแผนการผลิตโดยพิจารณาจากระดับราคาสินค้าในปัจจุบันหรือพิจารณาจากแนวโน้มราคาในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น และมักจะคาดการณ์ไปเองว่าแนวโน้มราคาในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับอดีต ดังนั้นการเข้าถึงข้อมูลและความสามารถคาดการณ์อนาคตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ผลิตสามารถเอาตัวรอดจากความผันผวนของราคาได้ ภาครัฐจึงควรจัดการเพื่อให้มีการศึกษาเพื่อคาดการณ์ปริมาณผลผลิต ความต้องการ และระดับราคาของสินค้าสำคัญ ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และกระจายข้อมูลการคาดการณ์ดังกล่าวให้ถึงผู้ผลิตที่เป็นเป้าหมายอย่างถูกต้อง ทั่วถึง และทันเวลา
ในขณะเดียวกันรัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกในอนาคต และมีมาตรการชี้นำหรือจูงใจให้ผู้ผลิตดำเนินการผลิตสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่นการจัดโซนที่ดินเกษตรและกำหนดมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตให้สอดคล้องกับโซนนิ่งที่กำหนดไว้ เพื่อควบคุมให้เกิดผลผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในระยะยาว เป็นต้น
ประการที่สอง ความยืดหยุ่นของภาคการผลิต ในภาวะที่มีความผันผวนของราคา ความยืดหยุ่นของหน่วยผลิตมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะจะทำให้หน่วยผลิตสามารถต้านทานกับความเปลี่ยนแปลงได้ โดยความยืดหยุ่นอาจหมายถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนขนาดการผลิตหรือการเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่สร้างผลกระทบมากนัก แต่ความยืดหยุ่นที่สำคัญคือการที่ธุรกิจมีอัตรากำไรสูง ทำให้มีความสามารถรับการเปลี่ยนแปลงของราคาได้ค่อนข้างกว้าง
การที่ธุรกิจจะมีอัตรากำไรสูงเกิดจากยุทธศาสตร์ใน 3 ด้านหลัก ดังนี้ 1) การคิดค้นสินค้าหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก 2) การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และมุ่งพัฒนาระบบของกระบวนการทำงานทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นอยู่เสมอ 3) การสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านกลยุทธ์ทางการตลาด เช่น การสร้างตราสินค้า การบริการที่สร้างความประทับใจ การจัดจำหน่ายสินค้าที่สะดวกรวดเร็ว และการออกแบบผลิตภัณต์ให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง เป็นต้น
ประการที่สาม การป้องกันและกระจายความเสี่ยง สำหรับหน่วยหน่วยผลิตหรือการผลิตสินค้าบางชนิดที่มีความยืดหยุ่นต่ำ เช่นกรณียางพาราที่ใช้เวลาปลูกนานถึง 7 ปีกว่าจะสามารถให้ผลผลิตได้ หรือสินค้าที่มีการแข่งขันสูง (อัตรากำไรต่ำ) เช่นสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากผู้ผลิตจะต้องคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำแล้ว หลักการป้องกันและกระจายความเสี่ยงมีความจำเป็นต่อการต่อสู้กับความผันผวนของราคา ผู้ผลิตควรเรียนรู้ช่องทางและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงชนิดต่างๆ เช่น การใช้ประโยชน์จากตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เป็นต้น และผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงโดยมีการผลิตสินค้ามากกว่า 1 ชนิดโดยที่สินค้าแต่ละชนิดไม่มีความสัมพันธ์กันด้านราคา เพื่อทำให้รายได้ของผู้ผลิตไม่ผันผวนไปตามราคาของสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง
ในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ความผันผวนของราคาเป็นปรากฏการณ์ปกติ การเตรียมความพร้อมรับมือกับความผันผวนของราคาเป็นประเด็นที่ภาครัฐและภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญ การจัดการเกี่ยวกับปัญหาราคาสินค้าของรัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลงไปจากการอุดหนุนหรือแทรกแซงกลไกราคาในระยะสั้น เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตเพื่อให้เผชิญความผันผวนได้ในระยะยาว
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/cover/233495.jpg