เผชิญหน้าธรรมชาติ'อคติ'(1)


แหล่งที่มาของภาพ : http://www.allpsychologycareers.com/imagesvr_ce/0001/racial-prejudice.jpg

โลกวันนี้วันสุข
คอลัมน์ : HR Tips

 สาวออฟฟิศคนหนึ่งบ่นให้เพื่อนฟังว่า ?ฉันรู้สึกว่า หัวหน้างานปฏิบัติต่อฉัน แตกต่างจากพนักงานที่หน้าตาดี เขาไม่สนใจฉันเลย .. เขาต้องไม่ชอบที่ฉันอ้วนแน่ ๆ?

อีกคนหนึ่งตัดพ้อกับเพื่อนหลังพบว่า ตนเองไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้าทำงาน ?ฉันคงไม่ได้งานนี้หรอก แม้ว่าคุณสมบัติและประสบการณ์ทำงาน ไม่ได้แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น ๆ แต่ผู้สัมภาษณ์บอกว่า การที่ฉันมีน้ำหนักมากเกินไป อาจเป็นอุปสรรค ไม่คล่องตัวในการทำงาน? 

สาวสองคนนี้ประสบปัญหาคล้าย ๆ กันนั่นคือ การที่พวกเธอมีน้ำหนักตัวมาก หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นคนอ้วนนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้ถูกเลือกปฏิบัติอย่างมี ?อคติ?ในทางลบ เมื่อเทียบกับคนที่มีรูปร่างดี หน้าตาดี ทั้ง ๆ ที่คุณสมบัติอื่น ๆ อาจไม่แตกต่างกัน

คำถามคือ บุคคลที่ควรจะพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ด้วยใจเป็นธรรม ให้คุณค่าอย่างเหมาะสม กลับมีอคติแบบเลือกปฏิบัติแตกต่าง ระหว่าง คนอ้วน กับ คนผอม หรือ คนหน้าตาดี กับ คนหน้าธรรมดา ๆ ได้ด้วยหรือ??

คำตอบคือ ควรปฏิบัติต่อคนที่อยู่ภายใต้อย่างเป็นธรรม มีตัวชี้วัดที่ยึดโยงกับผลการทำงาน ไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอกหรืออารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว

 อย่างไรก็ตาม ในองค์กรการทำงานทั่ว ๆ ไปในปัจจุบัน ยังคงเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายเลือกผู้ร่วมงาน จึงย่อมมีทัศนคติ อารมณ์ความรู้สึก เหตุผลส่วนตัว รสนิยม ความชอบและไม่ชอบอะไรบางอย่างผสมผสานเข้ามาด้วย นอกเหนือจากการพิจารณาคุณสมบัติด้านการศึกษาและการทำงาน เป็นเหตุให้เจืออคติเข้ามาด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแมนเชนเตอร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมอแนช ประเทศออสเตรเลีย ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ตอบแบบสอบถาม 102 คน เกี่ยวกับภาพของผู้หญิง 12 ภาพ พร้อมประวัติส่วนตัวเพื่อการสมัครงาน โดยผู้ตอบแบบสอบถามจะได้รับคำสั่งให้พิจารณาว่า ใครเหมาะสมหรือมีความสามารถที่จะเป็นผู้นำได้ รวมถึงให้เลือกตำแหน่งงานกำหนดเงินเดือนที่จะให้ด้วย และให้จัดอันดับของสาว ๆ ในแง่ของการประสบความสำเร็จในองค์กรว่า พวกเธอจะไต่เต้าไปได้ถึงระดับใด

ผลการวิจัยระบุว่า ผู้สมัครที่มีน้ำหนักมากถูกจัดอันดับเอาไว้ต่ำกว่ากลุ่มผู้สมัครที่ผอมเพรียว รวมถึงได้รับเงินเดือนที่ต่ำกว่า และถูกคาดว่าจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานน้อยกว่าด้วย

ผลสำรวจสรุปว่า ผู้บริหารองค์กรยุคใหม่ต้องการร่วมงานกับสาวร่างผอมบาง มากกว่าสาวร่างท้วมหรืออ้วน เพราะมีทัศนคติกับคนอ้วนในแง่ลบ โดยมองว่า เป็นคนไม่ค่อยขยัน และไม่ค่อยชอบที่พวกเธอรับประทานเก่ง

งานวิจัยนี้ออกจะเป็น ?อคติ? ที่โหดร้าย และไม่ยุติธรรมต่อสาวที่มีรูปร่างท้วมหรือมีน้ำหนักมากกว่าปกติ เพราะหากพิจารณาด้วยเหตุผลที่เป็นจริง สาวที่มีรูปร่างท้วมย่อมต้องมีผู้ที่ขยัน คล่องแคล่ว เฉลียวฉลาดในการทำงาน และการที่พวกเธอบางคนอาจจะรับประทานเก่ง ย่อมเป็นนิสัยส่วนตัว ซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายของงานที่ทำแต่อย่างใด

อคติในเรื่องนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความลำเอียงอีกหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อคนหรือเรื่องต่าง ๆ ว่า ชอบ-ไม่ชอบ ดี-ไม่ดี พอใจ-ไม่พอใจ ฯลฯ โดยมีข้อสรุปที่เป็น ความเชื่อ ความรู้สึก หรือเหตุผลของตนเอง ซึ่งมักจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

คำถามคือ ถ้าเราต้องเผชิญหน้ากับอคติในลักษณะนี้ เราจะทำเช่นไร?

ทำความเข้าใจ ?ธรรมชาติอคติ? ของมนุษย์ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามถ้าเราเข้าใจ เราย่อมสามารถ ?ทำใจ? ได้ อคติและความลำเอียงเช่นกัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกคน เพราะเราต่างสะสมประสบการณ์ การเรียนรู้ การให้คุณค่า การยึดเจตคติ ค่านิยมสังคม สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เรามีทัศนะต่อเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกัน โดยใช้ความรู้สึกชอบ/ไม่ชอบ ดี/ไม่ดี ในการประเมิน มากกว่าการพิจารณาเนื้อหาสาระของสิ่งนั้นจริง ๆ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับคนบางคน เช่น เคยถูกตามตื้อเพื่อให้สมัครเป็นสมาชิกขายตรง จนกลายเป็นความรู้สึกไม่ชอบทั้งคนที่ทำอาชีพนี้ และงานขายตรงทั้งหมด หรือในมุมกลับกัน ถ้าเรารับรู้และเชื่อว่า คนที่จบจากสถาบันการศึกษานี้เป็นคนที่เชื่อมือได้ เราก็จะ รู้สึกไว้ใจเขา แม้ว่าในความเป็นจริงเขาอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ได้ เป็นต้น

เชื่อมั่นใน ?คุณค่า? ของตนเองการเผชิญหน้ากับอำนาจอคตินั้น นอกจากเราต้องเข้าใจธรรมชาติอคติแล้ว ในมุมเดียวกัน เราต้องเข้าใจตัวเองด้วย โดยเชื่อมั่นในคุณค่าแห่งตน และพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล ไม่หวั่นไหวไปตามการถูกตัดสินที่ไม่เป็นธรรมนั้น เช่น แม้จะถูกตัดสินว่า คนอ้วนมักจะเกียจคร้านและควบคุมการรับประทานไม่ได้ แต่ถ้าเราสำรวจตัวเองแล้ว ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เรายังขยันและกระตือรือร้น รวมทั้งควบคุมตัวเองได้ดีในเรื่องการรับประทาน ก็ให้เราไม่ต้องสนใจในความรู้สึกแง่ลบนั้น แต่ให้เราทำหน้าที่ของเราต่อไป

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น แม้คนอื่นจะอคติต่อเรา แต่เราต้องฝึกตัวเองให้มีใจที่เที่ยงธรรม ไม่ใช้ชีวิตไปตามความเข้าใจ ตามอารมณ์ความรู้สึกและเหตุผลอันจำกัดของตนเอง แต่เรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าของทุกคนอย่างเท่าเทียม  และพิจารณาด้วยเหตุผลในเนื้อหาสาระอย่างยุติธรรม โดยตระหนักว่า การเอาชนะอคติแห่งตน จะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจในตัวเอง มากกว่าการได้รับคำชมใด ๆ



 
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://kasnova.exteen.com/images/O4.jpg