วัฒนธรรมกับบทบาทของคนจีนโพ้นทะเล

ในบทความครั้งก่อนๆ ผมได้กล่าวถึงบทบาทของคนจีนโพ้นทะเลในการสร้างความมั่งคั่งและพัฒนาประเทศ และทิศทางนโยบายของรัฐบาลจีนในการใช้ประโยชน์จากคนจีนโพ้นทะเล ในบทความนี้ ผมจะกล่าวถึงปัจจัยเชิงวัฒนธรรมที่มีผลต่อบทบาทของคนจีนโพ้นทะเลในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและประเทศที่คนจีนโพ้นทะเลเข้าไปอยู่อาศัย

วัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน (Cultural proximity) เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อบทบาทของคนจีนโพ้นทะเลในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของจีนและเศรษฐกิจของประเทศที่ชาวจีนเข้าไปอาศัยอยู่ ทั้งการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ

เป็นที่ทราบกันว่า นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีนในช่วงแรกๆ ที่จีนเริ่มเปิดประตูทางเศรษฐกิจ คือนักลงทุนเชื้อสายจีนจากฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีคนเชื้อสายจีนเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากมีความคุ้นเคยในด้านภาษาและวัฒนธรรม



แหล่งที่มาของภาพ : 
http://www.enn.co.th/uploads/contents/20120216101523.jpg

ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็เลือกประเทศที่จะลงทุนโดยพิจารณาจากความใกล้เคียงทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรเชื้อสายจีนในสัดส่วนสูง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออก งานวิจัยชิ้นหนึ่งทำการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการออกไปลงทุนของจีนในต่างประเทศระหว่างปี  2527 ถึง 2544 พบว่า ความใกล้เคียงทางวัฒนธรรมของประเทศผู้รับการลงทุน (ซึ่งวัดโดยร้อยละของคนเชื้อสายจีนต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ) มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการลงทุนโดยตรงจากประเทศจีนอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี ความใกล้เคียงทางวัฒนธรรมระหว่างคนจีนแผ่นดินใหญ่และคนจีนโพ้นทะเล และระหว่างคนจีนโพ้นทะเลในแต่ละประเทศมิได้มีความเหมือนกันเสียทีเดียว และอาจมีแนวโน้มแตกต่างกันมากขึ้น ประเทศที่คนจีนเข้าไปอยู่อาศัยส่วนมากมีการกีดกัน แบ่งแยก และข่มเหงต่อคนต่างด้าว เช่น รัฐบาลเวียดนามในช่วงหลังสงครามเวียดนาม ยึดที่ดินของคนเชื้อจีนแล้วผลักดันให้ไปเป็น ?มนุษย์เรือ? หรือรัฐบาลอินโดนีเซียในยุคซูฮาโต้ที่กำหนดนโยบายจำกัดสิทธิพลเมืองของคนเชื้อสายจีน เป็นต้น สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ชาวจีนต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศที่พวกเขาเข้าไปอยู่อาศัย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผสมผสานทางวัฒนธรรมของตนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

รัฐบาลในบางประเทศมีนโยบายการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (Assimilation policy) เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพภายในชาติ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลสิงคโปร์กำหนดแผงผังการตั้งที่อยู่อาศัยใหม่และดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างชุมชนชาวสิงคโปร์แบบใหม่ โดยให้มีการผสมผสานของคนที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาวะเศรษฐกิจ-สังคม เพื่อสร้างจิตสำนึกของความเป็นชาติ

ขณะที่รัฐบาลไทยในอดีตใช้นโยบายรัฐนิยมเพื่อสร้างจิตสำนึกความเป็นคนไทยและความเป็นเอกภาพภายในชาติ เช่น การเรียกคนในประเทศว่าเป็น ?คนไทย? การกำหนดเป็นหน้าที่ให้ต้องศึกษาภาษาไทย เป็นต้น ความสำเร็จทางธุรกิจของคนเชื้อสายจีนในประเทศไทย มีความเชื่อมโยงค่อนข้างมากกับระดับของความคล้ายคลึงกับคนท้องถิ่น ลูกหลานของคนจีนในประเทศไทยเกือบทั้งหมดพูดภาษาไทย (และส่วนใหญ่พูดภาษาจีนไม่ได้) และมีชื่อและนามสกุลเป็นภาษาไทย เช่นเดียวรัฐบาลของอินโดนีเซียในอดีตที่สั่งห้ามไม่ให้ประชาชนใช้เอกสารภาษาจีนและกีดกันสิทธิของคนจีนในประเทศ ทำให้คนเชื้อสายจีนต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น สังเกตได้จากการที่คนเชื้อสายจีนในอินโดนีเซียส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่นและการมีชื่อเป็นภาษาท้องถิ่น

ในความเป็นจริง ชาวจีนอพยพเข้าไปในประเทศต่างๆ ไม่ได้ใช้ภาษาจีนแบบเดียวกันทั้งหมด คนจีนโพ้นทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ภาษาจีนท้องถิ่น (Dialects) ที่แตกต่างกันหลากหลาย เช่น ภาษาถิ่นของมณฑลฝูเจี้ยน ฮากกา แต้จิ๋ว กวางตุ้ง และอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับถิ่นที่อยู่ ความแตกต่างของช่วงวัย และภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม

ในอดีตช่องว่างด้านภาษายังมีไม่มากนัก ทำให้คนจีนโพ้นทะเลสามารถใช้ภาษาจีนในการติดต่อธุรกิจและสร้างเครือข่ายทางสังคมได้ โดยที่ต้นทุนการเรียนรู้ภาษาค่อนข้างต่ำ แต่ความแตกต่างทางภาษาระหว่างคนจีนโพ้นทะเลและคนจีนแผ่นดินใหญ่มีแนวโน้มถ่างออกมากขึ้น เนื่องจากคนจีนแผ่นดินใหญ่รุ่นใหม่ล้วนใช้ภาษาจีนกลางทั้งหมด ขณะที่คนจีนโพ้นทะเลในหลายประเทศยังใช้ภาษาท้องถิ่น

ถึงกระนั้นบางประเทศยังคงให้ความสำคัญกับเรียนภาษาจีน เช่น รัฐบาลสิงคโปร์มีโครงการรณรงค์ให้พูดภาษาจีนกลาง มาเลเซียมีระบบการศึกษาแบบจีนที่สมบูรณ์แบบ และกัมพูชาที่มีการสอนภาษาจีนกลางในโรงเรียน

วัฒนธรรมในการดำเนินธุรกิจของจีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ถูกอ้างว่าทำให้ธุรกิจของคนจีนประสบความสำเร็จ คือ ระบบความสัมพันธ์ทางธุรกิจแบบจีน หรือ ?guanxi? ซึ่งหมายถึงการดำเนินธุรกิจโดยอาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ทั้งความสัมพันธ์แบบเครือญาติและความสัมพันธ์ทางสังคม

ประโยชน์ของระบบ guanxi เกิดขึ้นจากทรัพย์สินทางความสัมพันธ์ (Relational assets) ซึ่งช่วยในการลดความเสี่ยงในการลงทุน ลดความเสี่ยงเชิงพาณิชย์ และลดต้นทุนทางธุรกรรม รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากได้รับข้อมูลการตลาดเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุน และมีความร่วมมือในเชิงพาณิชย์ที่จะช่วยในการเข้าสู่ตลาดและการพัฒนาตลาด

นักวิชาการจำนวนหนึ่งระบุว่า ระบบ guanxi สร้างประโยชน์ให้กับบริษัทของจีนและมีอิทธิพลต่อรูปแบบของการลงทุนในต่างประเทศของจีน บรรษัทข้ามชาติของจีนมักเลือกลงทุนในที่ที่จะได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินทางความสัมพันธ์ ซึ่งอาจอยู่ในรูปเชื้อชาติหรือความเชื่อมโยงทางครอบครัวกับประชาชนในประเทศที่เข้าไปลงทุน หรืออาจปรากฏอยู่ในรูปของทักษะในการสร้างเครือข่าย

ระบบความสัมพันธ์ทางธุรกิจแบบจีนยังเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจการของบริษัทข้ามชาติในประเทศจีน และในประเทศอื่นๆ ที่ชาวจีนโพ้นทะเลเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลทางธุรกิจในประเทศเหล่านั้น เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี นักวิชาการอีกส่วนหนึ่งโต้แย้งว่า ผู้ประกอบการเชื้อสายจีนไม่จำเป็นต้องติดต่อธุรกิจด้วยวิธีการแบบ guanxi เสมอไป แม้การที่มีเชื้อชาติเดียวกันอาจช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อธุรกิจผู้ประกอบการเชื้อสายจีนที่อยู่คนละประเทศได้ แต่ประเด็นสำคัญคือใครก็ได้ที่จะทำให้เขาได้รับผลกำไรสูงสุด อาจจะเป็นคนเชื้อสายจีนหรือไม่ก็ได้ เครือข่าย guanxi จึงเป็นเพียงหนึ่งในหลายกลยุทธ์ที่อาจถูกเลือกใช้ในการทำธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการเชื้อสายจีน

ตัวอย่างที่สนับสนุนข้อโต้แย้งนี้ คือ ธุรกิจของคนเชื้อสายจีนในมาเลเซียที่เปลี่ยนแปลงจากธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับคนเชื้อชาติเดียวกันและธุรกิจครอบครัว เป็นธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับคนต่างเชื้อชาติและองค์กรธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการปรับตัวเนื่องจากผลกระทบของนโยบายรัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อคนเชื้อสายมาเลย์

รูปแบบความสัมพันธ์ทางธุรกิจของคนจีนและคนจีนโพ้นทะเลยังมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบตะวันตกมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะการที่เศรษฐกิจจีนถูกเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น และบริษัทของคนจีนโพ้นทะเลที่ทำธุรกิจกับต่างประเทศมีจำนวนมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจของคนจีนโพ้นทะเลได้ตกทอดมาอยู่ในการครอบครองของคนเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งจบการศึกษามาจากตะวันตก จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในแบบตะวันตกมากขึ้น

วิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2540 ยังทำให้เกิดกระบวนการกลายเป็นตะวันตกมากขึ้น โดยทำให้ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากต้องล่มสลายหรือถูกครอบครองกิจการหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น หลังจากเกิดวิกฤต ระบบกฎหมายในภูมิภาคนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาก ทำให้ความจำเป็นในการใช้ระบบ Guanxi มีน้อยลง

ในยุคที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงกำลังกลายเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก คนจีนโพ้นทะเลเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจจีนและประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่สนับสนุนความสำเร็จของธุรกิจจีน และสนับสนุนบทบาทของคนจีนโพ้นทะเลในการสร้างความมั่งคั่งกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะความคล้ายคลึงกันด้านวัฒนธรรม ภาษา และวิธีการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนโพ้นทะเล โดยการลดความแตกต่าง การเรียนรู้ความแตกต่าง และพัฒนาศักยภาพของคนจีนโพ้นทะเลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com