แนวทางในการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางอาหารของประเทศสิงคโปร์
แหล่งที่มาของภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-JhzNZsUgkJ4/UPCXnUgWh_I/AAAAAAAAA0A/tA6WzNif48Y/s1600/Food-Crisis-Image_zps9585d809.gif
กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ณ ปัจจุบัน ประเทศสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากแรงกดดันจากปัจจัยหลายๆ ประการ
อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก การลดลงของพื้นที่และแรงงานภาคเกษตรกรรม การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรภายในประเทศ เป็นต้น และจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้ประเทศสิงคโปร์ต้องดำเนินนโยบายในการพัฒนาประเทศเพื่อรับมือต่อวิกฤตการณ์ทางอาหารที่อาจเกิดขึ้นในโลกอนาคต เพราะถึงแม้ว่าประเทศสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่ร่ำรวยพอที่จะนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของอาหารทั้งหมด แต่หากระยะยาวสิงคโปร์ไม่สามารถลดการพึ่งพิงอาหารจากต่างชาติได้ ประเทศสิงคโปร์อาจจะต้องเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารที่นำไปสู่วิกฤตการณ์อาหารภายในประเทศในยามวิกฤตได้ในที่สุด
แต่อย่างไรก็ดี ประเทศสิงคโปร์ได้พยายามริเริ่มที่จะหาทางออกกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว และเพิ่มระดับความมั่นคงทางอาหารผ่านแนวทางที่สำคัญ 4 แนวทางดังนี้
1.พัฒนาผลผลิตทางอาหารในท้องถิ่น
รัฐบาลมีความพยายามที่จะพัฒนาศักยภาพด้านเกษตรกรรม และ การประมงภายในประเทศเพื่อเพิ่มอัตราความมั่นคงทางอาหาร และลดการพึ่งพิงทางอาหารจากต่างประเทศ ผ่านกองทุนทางด้านอาหาร (Food Fund) เพื่อที่จะช่วยให้เกษตรกรภายในประเทศสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการเกษตร และการประมงที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตผลผลิตทางอาหารในท้องถิ่นที่สำคัญ 3 ประเภท คือ ไข่ ผัก และ ปลา และนโยบายพึ่งพิงตนเอง (self-sufficient policy) ดังกล่าว รัฐบาลมีความหวังว่าจากการสนับสนุนด้านเงินทุนผ่านกองทุนด้านอาหารจะสามารถดึงดูดให้บริษัท และ เกษตรกรเพิ่มอัตราการผลิตผลผลิตทางอาหารได้สำเร็จ
2.พัฒนาผลผลิตทางอาหารผ่านการวิจัยและพัฒนา (Research and development)
องค์การวิจัยแห่งชาติ (National Research Foundation) ได้มอบเงินทุนกว่า 8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยประจำชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) กับ สถาบันวิจัยเรื่องข้าวระหว่างประเทศ (The International Rice Research Institute) เพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤตอาหาร อาทิ การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้สามารถปรับตัวได้กับสภาพอากาศต่างๆ เป็นต้น โดยจากการร่วมมือกันครั้งนี้ส่งผลดีต่อทุกประเทศที่ปลูกข้าวซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
3.เน้นการนำเข้าอาหารจากประเทศที่แตกต่างกัน
เนื่องจากเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารในอัตราที่สูง ประเทศสิงคโปร์จึงควรนำเข้าอาหารจากหลายๆ ประเทศ เพื่อลดการพึ่งพิงแหล่งที่มาของอาหารเพียงแห่งเดียว ยกตัวอย่างเช่น การที่สิงคโปร์ลดการนำเข้าผลไม้จากมาเลเซียจาก 60 เปอร์เซนเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 1996 ถึง 2006 หรือการที่สิงคโปร์เลือกนำเข้าผลไม้ตามฤดูจากประเทศจีน และผลไม้นอกฤดูจากสหรัฐฯเป็นต้น เพราะฉะนั้นการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่แตกต่างกันจะช่วยป้องกันสภาวะขาดแคลนทางอาหาร
4. การเกษตรแบบคนในเขตเมือง (Urban Farming)
เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรในเมืองที่สูงมาก การทำการเกษตรแบบคนในเขตเมือง (Urban Farming) จึงถือเป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยให้ระดับความมั่นคงในอาหารสูงขึ้นได้ โดยการเกษตรแบบคนในเขตเมืองเป็นสิ่งใหม่และสามารถเพิ่มผลผลิตทางอาหารได้ ถึงแม้จะมีพื้นที่จำกัด อาทิ การเกษตรบนหลังคา เป็นต้น ทั้งนี้ ถ้าการเกษตรแบบคนในเมืองประสบความสำเร็จ เป็นที่แน่นอนว่าประเทศอื่นในอาเซียนสามารถที่จะเลียนแบบและทำตามได้ อีกทั้งสิงคโปร์ยังตั้งเป้าหมายเป็นประเทศศูนย์กลางการเกษตรแบบคนเมืองอีกด้วย
บทเรียนสำหรับประเทศไทย
โดยสรุปแล้ว สิงคโปร์ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงทางอาหารในระดับต้นๆ ของประเทศอาเซียน และมีหลายสิ่งที่ประเทศไทยสามารถนำไปเป็นบทเรียนในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนเรื่องการวิจัยและพัฒนาทางการเกษตรให้มากขึ้น เพราะการวิจัยและพัฒนาทางการเกษตรเป็นเสมือนกุญแจที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตทางอาหารภายในประเทศสามารถแข่งขันและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรภายในประเทศ พร้อมทั้งยังเพียงพอที่จะเลี้ยงปากท้องของคนในประเทศอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าเรามีความมั่นคงทางอาหารสูงหรือไม่มีความเสี่ยงขาดความมั่นคงทางอาหารในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์การเกษตรหลายประเภทที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน มีผลผลิตต่อไร่ต่ำ และมีแนวโน้มแข่งขันได้ยากเมื่อต้องเปิดเสรีตามความตกลงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและความตกลงอื่นๆ ดังนั้น ประเทศไทยควรเร่งพัฒนาเรื่องการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น บวกกับแนวทางอื่นๆ ที่สามารถการันตีถึงความมั่นคงทางอาหารของประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ นอกจากมิติระดับประเทศแล้ว ในมิติระหว่างประเทศ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าประเทศอาเซียนควรร่วมมือกันเพื่อเพิ่มระดับความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศประเทศอาเซียนผ่านแนวทางต่างๆ อาทิ แผนนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (ASEAN Integrated Food Security Framework) เป็นต้น
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com