ทำงานและเปิดรับสิ่งใหม่ แม้วัยร่วงโรย
แหล่งที่มาของภาพ : https://p.gr-assets.com/540x540/fit/hostedimages/1382121194/5679696.jpg
เมื่อเร็ว ๆ นี้ (7 กุมภาพนธ์) ผมเห็นข่าวของประธานาธิบดีชิมอน เปเรส ผู้นำประเทศอิสราเอล วัย 90 ปี ประมุขประเทศที่อายุมากที่สุดในปัจจุบัน ได้ทำสถิติของ ?กินเนสส์ บุ๊ก? ในฐานะผู้สอนวิชาหน้าที่พลเมืองทางออนไลน์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก มีนักศึกษาร่วมชั้นเรียนทั่วประเทศถึง 9,000 คน โดยสอนจากสำนักงานบริษัทซิสโก-ซิสเทม อินช์ ในเมืองเนทันยา ทางภาคเหนือของอิสราเอล
นายมาร์โค ฟริแกตติ ผู้บริหารกินเนสส์ฯ กล่าวถึงเหตุผลที่การสอนครั้งนี้ถูกบันทึกลงในกินเนสส์ บุ๊ก เนื่องจาก ชอบแนวคิดของเขาที่รวมเอาวิชาหน้าที่พลเมือง เทคโนโลยี และครูคนหนึ่งที่เห็นความเป็นไปของประเทศตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเข้าด้วยกัน
ประธานาธิบดีชิมอน เปเรส เป็นบุคคลที่ผมชื่นชม ในมุมของการเป็นแบบอย่างของคนที่ทำงานหนัก ทำงานแบบไม่มีเกษียณ และเป็นนักเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดชีวิต แม้ปัจจุบัน ท่านจะมีอายุมาก เลยวัยเกษียณปกติมาถึง 30 ปี แต่ท่านยังทำงานทุกวัน ทั้งยังสนับสนุนและสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างเชี่ยวชาญ
สังคมไทยในเวลาอันใกล้นี้ จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับวัยแรงงาน จนทำให้เสี่ยงต่อการไม่สามารถพึ่งพิงได้ ส่งผลให้ หากคนหนุ่มสาวหรือผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานขณะนี้ ไม่คิดเกี่ยวกับงานอย่างถูกต้อง ไม่เตรียมพร้อมในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ในช่วงบั้นปลายชีวิตอาจต้องประสบกับความทุกข์ยากอย่างไม่ควรจะเป็น
ปัจจุบัน ในสังคมเริ่มตื่นตัว ให้คนวัยทำงานเตรียมความพร้อมในวัยสูงอายุ โดยมักให้ความสำคัญเกี่ยวกับ การเตรียมพร้อมด้านการเงิน การดูแลและประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น แต่ผมคิดว่า ยังไม่เพียงพอ อีกเรื่องหนึ่งที่เราควรเตรียมพร้อม นั่นคือ การทำงานในวัยสูงอายุ
หากถามว่า เราคิดจะทำอะไรในวัยหลังเกษียณจากงานประจำ หรือเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป จนตลอดชีวิตที่เหลือ??
ผมเชื่อว่า คนทำงานจำนวนไม่น้อยได้วางแผนคร่าว ๆ ไว้ในใจบ้างแล้วว่า อยากจะทำอะไร บางคนอาจจะลงทุนประกอบธุรกิจส่วนตัว บางคนอาจนำเงินที่สะสมมาไปซื้อที่ดินทำไร่ทำสวน อยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตาม อาจมีไม่น้อยที่คิดว่าจะทำงานเก็บเงินให้ได้มากที่สุด เพียงพอจะอยู่อย่างสบาย ไม่ต้องทำงานอะไรเลย
ในมุมมองของผม ผมอยากให้ทุกคนใช้ชีวิตที่เกิดมาอย่างคุ้มค่า อย่างมีคุณค่า และอย่างมีความสุข หนทางหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้นได้ คือ การที่ได้ทำงานที่ตนรัก งานที่มีคุณค่า งานที่ทำแล้วมีความสุขใจได้ตลอดชีวิต
คำถามคือ เราต้องเตรียมตัวเพื่อทำงานหลังเกษียณอย่างไรบ้าง?
เตรียมความคิด ?ทำงานไม่มีเกษียณ? ผมอยากให้คนทำงานทุกคนตระหนักว่า ?อายุเป็นเพียงตัวเลข? เท่านั้น ในการทำงาน เราสามารถทำงานที่เรารัก งานที่เราเห็นคุณค่าต่อไปได้เรื่อย ๆ ถ้าไม่มีกำหนดเกษียณอายุขององค์กร หรือแม้เราเกษียณแล้ว เราก็ควรทำงานไปเรื่อย ๆ เท่าที่เรายังสามารถจะทำได้
เป็นความจริงที่ว่า การทำงานนำมาซึ่งความสุข เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ทำงาน ว่างงาน โอกาสที่จะเกิดความรู้สึกซึมเศร้า เหงา ไร้เป้าหมายมีมากกว่า การทำงานช่วยให้ชีวิตมีเป้าหมาย เราต้องกำหนดว่าวันนี้ต้องทำอะไรให้เสร็จ พรุ่งนี้ต้องทำอะไร และวันต่อ ๆ ไปต้องมีอะไรให้ทำบ้าง ย่อมช่วยให้ชีวิตมีความหวังอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้สุขภาพดีเมื่อเทียบกับคนที่อยู่บ้านเฉย ๆ จากการที่ร่างกายได้เคลื่อนไหว สมองได้คิดได้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง
เตรียมความรู้ ?เรียนรู้สิ่งใหม่ได้เสมอ? เราต้องไม่มีความคิดแบบนี้ว่า ?อายุมากแล้ว...สมองไม่รับอะไรใหม่ ๆ แล้ว เรียนต่อไปคงเท่านั้น? ?ตามไม่ทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว คงต้องหาคนรุ่นใหม่แล้วล่ะ? ?อย่างผมเนี่ยนะ จะให้ไปเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ อายุมากไปแล้วมั๊ง? เราต้องไม่จำกัดตัวเองว่า อายุมากแล้ว หมดเวลาที่จะทำอะไรใหม่ ๆ แล้ว ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพียงใช้ชีวิตให้หมดไปวัน ๆ ก็เพียงพอแล้ว เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงเลย เราสามารถที่จะคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดชีวิต สามารถเรียนรู้และก้าวตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ เราจึงต้องไม่หยุดที่จะปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ ๆ คิดริเริ่มสิ่งใหม่ ก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้
ผู้พันฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส เจ้าของอาณาจักร Kentucky Fried Chicken หรือ KFC เฟรนไชส์ไก่ทอดที่มีสาขาไปทั่วโลก ในขณะที่เขาคิดค้นไก่ทอดสูตรพิเศษประสบความสำเร็จ เขามีอายุ 65 ปี ผ่านความล้มเหลวมากมายของชีวิต ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงขนาดคิดที่จะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเขาเริ่มคิดได้และมีกำลังใจสู้ชีวิต เขาสามารถริเริ่มสิ่งใหม่ และประสบความสำเร็จสูงสุดช่วงบั้นปลายชีวิต ในวัย 85 ปีเขาก็กลายเป็นเศรษฐีพันล้านและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก
ในโลกนี้ มีบุคคลจำนวนมากที่ทำงานโดยไม่มีคำว่า เกษียณ และมีอีกจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน เมื่อเลยวัยเกษียณมาแล้ว คนเหล่านี้ไม่ได้มองว่าการทำงานเป็นทุกข์ ทำให้เขาสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข และใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าจนวันสุดท้ายของชีวิต
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Tags:
Post date:
Tuesday, 25 November, 2014 - 13:54
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 90 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 61 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 186 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 160 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 122 ครั้ง