"4 เร่ง" ข้อเสนอการเพิ่มประสิทธิผลภาครัฐ
ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องประสิทธิผลภาครัฐ ประจำไตรมาสที่ 2 ในภาพรวม คือประชาชนให้คะแนนภาครัฐที่ร้อยละ 57.73 ขยับขึ้นจากไตรมาสที่แล้วที่ได้คะแนนร้อยละ 52.15 ซึ่งผมได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ดัชนีประสิทธิผลภาครัฐมีคะแนนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 มากที่สุดสามอันดับ ดังนี้
การเข้าถึง มีคะแนนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 มากที่สุดคือมีผลต่างที่เพิ่มขึ้น 11.57 คะแนน สาเหตุอาจมาจากการดำเนินโครงการบ้านประชารัฐที่ทำให้คนรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งไตรมาสที่ผ่านมาได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2559 ทำให้หน่วยราชการต่างๆ รวมทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการดูแลประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ UNHCR ยังได้ชื่นชมประเทศไทยในดูแลคนที่ด้อยโอกาส เช่น คนไร้สัญชาติ โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการพื้นฐานด้านการศึกษาและสาธารณสุข
ความเป็นมืออาชีพ มีคะแนนมากเป็นอันดับ 2 โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้น 8.53 คะแนน อาจเป็นเพราะเมื่อมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีปัญหาการทำงานหรือเรื่องทุจริต รัฐบาลได้ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ โยกย้ายบุคลากรที่มีปัญหาหรือการโยกย้ายนายตำรวจที่ปล่อยปละละเลยให้มีการเปิดสถานบันเทิงเกินเวลาหรือมีบ่อนการพนัน
สำหรับประเด็นภัยแล้ง ข้าราชการทั้งอธิบดีกรมชลประทาน ผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคและนครหลวงได้เข้ามาร่วมกันแก้ไขภัยแล้ง รวมทั้งการแจ้งเตือนการพยากรณ์ความเปลี่ยนแปลงของอากาศอยู่สม่ำเสมอและค่อนข้างแม่นยำ จึงอาจมีผลทำให้ประชาชนมีความเชื่อถือในความรู้ และการทำงานของภาครัฐมากขึ้น
การสร้างพันธมิตรและบูรณาการ มีคะแนนมากเป็นอันดับ 3 โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้น 6.15 คะแนน อาจเนื่องมาจากรัฐบาลมีนโยบายประชารัฐที่สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการบูรณาการร่วมกันใน 12 ประเด็น หรือในกรณีภัยแล้งที่ทั้งกรมชลประทาน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของมหาดไทย การประปาส่วนภูมิภาคและนครหลวงได้เข้ามาบูรณาการร่วมกันแก้ไขภัยแล้ง รวมทั้งการทำโครงการ Public-Private Partnership (PPP) ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร
ถึงแม้ว่าผลในภาพรวมและทุกปัจจัยในไตรมาสที่ 2 จะสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1 แต่เมื่อประเมินและให้เกรดตามคะแนนจากผลการสำรวจ พบว่า คะแนนประสิทธิผลของภาครัฐอยู่ในช่วงระหว่างเกรด D กับ D+ กล่าวคือ ผ่านเกณฑ์คะแนนเกินครึ่งมาไม่มากนัก นับว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร ซึ่งผมเชื่อว่าศักยภาพของภาครัฐประเทศไทยที่ไม่น้อยกว่าประเทศใดในโลกสามารถทำให้ประสิทธิผลดีมากขึ้นกว่าเดิมได้อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอเสนอวิธีการเพิ่มประสิทธิผลภาครัฐ ดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 เร่งบูรณาการการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น
ภาครัฐควรส่งเสริมและเร่งสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือกับภาคประชาชนให้มากขึ้นด้วย และทำให้ความร่วมมือเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยเฉพาะในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ความร่วมมือและการบูรณาการที่เป็นอยู่นับว่าดีในระดับหนึ่ง ทว่ายังไม่เพียงพอต่อการยกระดับการทำงาน กล่าวคือ เป็นเพียงการร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือภาครัฐกับประชาชนชนเท่านั้น แต่ไม่ใช่ความร่วมมือที่เป็นไปตามแนวโน้มโลก โดยความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องเป็นการบูรณาการและร่วมมือจากทั้ง 3 ภาคส่วนร่วมกัน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนร่วมมือ (Public-Private-People Partnerships: 4P) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างยั่งยืนและครบถ้วนทุกมิติ
ประการที่ 2 เร่งส่งเสริมศักยภาพของหน่วยงานและองค์กรในท้องถิ่น
หน่วยงานและองค์กรในท้องถิ่นเป็นหน่วยงานรัฐที่อยู่ใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของประชาชนมากที่สุด จากการจัดอันดับหน่วยงานภาครัฐที่ดีที่สุดในมุมมองของกลุ่มตัวอย่างจากการสุ่มในต่างจังหวัด พบว่าหน่วยงานที่ได้อันดับที่ 1 คือ องค์การบริหารส่วนตำบล คิดเป็นร้อยละ 17.3 และอันดับที่ 2 ได้แก่ เทศบาล คิดเป็นร้อยละ 10.6 อันดับที่ 3-5 คือ สาธารณสุข สถานีอนามัย และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (เปรียบเป็นผู้แทนภาครัฐในการช่วยเหลือชุมชน) คิดเป็นร้อยละ 5.0 3.1 และ 2.5 ตามลำดับ
ประการที่ 3 เร่งพัฒนาการทำงานให้เป็นมืออาชีพและเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น
แม้คะแนนในตัวแปรความเป็นมืออาชีพมีคะแนนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 มากเป็นอันดับ 2 แต่คะแนนที่ได้ยังไม่ถึงร้อยละ 60 เพราะบางครั้งสามารถแก้ปัญหาได้จริง แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ยังไปไม่ถึงมาตรฐานสากลและไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภาครัฐควรแสดงควรเร่งรัดในการทำให้ผลงานความเป็นมืออาชีพชัดเจน
ประการที่ 4 เร่งจัดการแก้ไข ป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่อยู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ภาครัฐควรเร่งจัดการแก้ไข ป้องกัน และปราบปรามอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลงานชัดเจน ผมเคยเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันไว้อย่างมากมาย แต่ยังขาดการนำไปปฏิบัติจริง ภาครัฐต้องเอาจริงเอาจังก่อนที่จะสายเกินแก้ ใช้ทุกโอกาสและช่องทางที่มีในการลดและขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้หมดจากประเทศไทย
การพัฒนาประสิทธิผลของภาครัฐ ภาครัฐจะต้องมีประสานการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นจะต้องมีการบูรณาการวิธีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาชน รวมถึงต้องยกระดับการทำงานให้ไปถึงมาตรฐานระดับสากล โดยเฉพาะเรื่องที่ควรเร่งแก้ที่สุดอย่างปัญหาคอร์รัปชัน ที่ต้องแสดงผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
Catagories:
Tags:
Post date:
Friday, 1 July, 2016 - 16:29
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ปัจจัยความสำเร็จสู่ประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม
Total views: อ่าน 2,077 ครั้ง
การบริหารภาครัฐภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
Total views: อ่าน 3,388 ครั้ง
แนวโน้มภัยคุกคามของการก่อการร้ายโลก
Total views: อ่าน 8,756 ครั้ง
การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร : กรณีศึกษาประเทศจีน
Total views: อ่าน 5,082 ครั้ง
คลังสมอง (Think - Tank) กับการพัฒนาประเทศไทย
Total views: อ่าน 6,676 ครั้ง