Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

 

 ขยับกฎหมายกระตุ้นการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา
Amend The Law To Stimulate R&D In Universities

 

30 กันยายน 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                            
     

จากผลการสำรวจจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา โดยยังไม่รวมตัวเลขของภาคธุรกิจเอกชน ในปี พ.. 2548 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2548 พบว่าสถาบันอุดมศึกษามีจำนวนบุคลากรมากที่สุด ถึงร้อยละ 64.56 หรือ 36,501 คน รองลงมาเป็นรัฐบาล ร้อยละ 32.92 หรือ 18,615 รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 2.07 หรือ 1,170 คน

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงศักยภาพในการวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา แต่กลับพบว่าสถาบันอุดมศึกษา มีการทำวิจัยจำนวนน้อย สะท้อนว่าสถาบันอุดมศึกษาไทย ไม่ได้ใช้บุคลากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่

เห็นได้จากผลการติดตามและการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษา นับแต่ประกาศใช้ พ...การศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 ถึงสิ้นสุดปีงบประมาณ 2548 โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พบว่าสถาบันอุดมศึกษามีผลงานวิจัยน้อย และไม่สอดคล้องต่อความต้องการของสังคม อาจารย์มีผลงานวิจัยเพียง 0.01 เรื่องต่อคนต่อปี นอกจากนี้ผลการประเมินความสามารถด้านการศึกษาของไทย ปี 2548 โดยสถาบันจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ หรือสถาบัน IMD ได้ประเมินการศึกษาทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ผลการประเมินเชิงคุณภาพพบว่า การตอบสนองความต้องการในการแข่งขันของ การศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย อยู่ในระดับต่ำ ได้คะแนน 4.9 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ส่วนการถ่ายโอนความรู้ ระหว่างบริษัทธุรกิจกับสถาบันอุดมศึกษามีน้อยมาก ได้คะแนน 4.17 ซึ่งทำให้องค์ความรู้ที่อยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ผมเห็นว่าหากมีการใช้กลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อจูงใจให้เกิดการวิจัยระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคธุรกิจเอกชนมากขึ้น ดังตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการปรับแก้ไขกฎหมาย เพื่อกระตุ้นการทำวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา และสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจ

กฎหมายที่ว่านี้คือ Bayh-Dole Act หรือ Patent and Trademark Law Amendments Act 1980 ซึ่งประกาศใช้โดยสภาคองเกรส (US Congress) เมื่อปี 1980 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งในปี 1984 กฎหมายฉบับนี้ยินยอมให้ผู้วิจัยที่รับทุนจากงบประมาณของรัฐบาล สามารถนำผลการวิจัยไปจดสิทธิบัตร และขายสิทธิบัตรให้ภาคการผลิตได้ ก่อให้เกิดความตื่นตัวในการทำวิจัย และจดสิทธิบัตรของสถาบันอุดมศึกษา และการเจรจาสิทธิประโยชน์ระหว่างภาควิชาการกับภาคเอกชน ความตื่นตัวนี้เห็นได้จาก การเพิ่มขึ้นของสำนักงานสิทธิบัตรในสถาบันอุดมศึกษา ระหว่างปี 1980-1990 จาก 25 แห่ง เป็น 200 แห่ง

หากพิจารณากฎหมายของไทย ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการวิจัย จะใช้เรื่องการหักลดหย่อนภาษีมาเป็นแรงจูงใจ ซึ่งที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ว่าไม่สามารถกระตุ้นการทำวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาให้เพิ่มขึ้นได้

การกระตุ้นการทำวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาของไทยนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าปัจจัยอื่น ๆ  ก็คือ รัฐจำเป็นต้องปรับแก้ไขตัวบทกฎหมาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยมากขึ้น  ทั้งนี้ อาจพิจารณาจาก concept และวิธีการ ของประเทศที่ ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้น ๆ มาเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาต่อยอดต่อไป ซึ่งกฎหมายที่ถูกปรับแก้ไขดังกล่าวนี้ ต้องมีส่วนกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ หันมาสนใจลงทุนด้านการวิจัยมากขึ้นด้วย เพื่อทำให้การวิจัยและการพัฒนาร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจเอกชนเกิดขึ้นจริง

  


-------------------------------