Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

 

ประชาธิปไตยไทย “วิธีการ” ไม่ใช่ “เป้าหมาย”
Thailand Democracy: A means not an end

 

29 กันยายน 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                            
     

หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ล้มรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาแทบจะทันที นั่นคือ ปฏิกริยาของประชาคมโลกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมักมีแนวโน้มไปในทิศทางไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าการกระทำ เช่นนี้ เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย อาทิ สหภาพยุโรป  ได้ออกแถลงการณ์ประณาม

นายโคฟี่ อันนัน (Kofi Annan) เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า การทำรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่น่าสนับสนุน

นายโทนี่ สโนว์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า สหรัฐรู้สึกผิดหวังต่อการกระทำดังกล่าว และพยายามเรียกร้องให้ทหารคืนอำนาจให้ประชาชน โดยการจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด

ผู้นำอีกหลายประเทศกล่าวทำนองเดียวกัน จนดูราวกับว่า การล้มรัฐบาลครั้งนี้เป็นสิ่งที่เลวร้ายและยอมรับไม่ได้เลย ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นของผมไม่ได้พูดเพื่อต้องการให้ตัดสินว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้น ถูก หรือ ผิด แต่ต้องการชี้ประเด็นว่า ตอนนี้เรามองระบอบประชาธิปไตย เป็น วิธีการ หรือ เป้าหมาย

ปรัชญาเบื้องหลังแนวคิดด้านการปกครอง หากย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของโสเครตีส, เพลโต้, อริสโตเติ้ล จนถึงกลุ่ม Classical theorist เช่น จอห์น ล็อค, โทมัส ฮอบบ์และคนอื่น ๆ ต่างล้วนมีแนวคิดหาทางสร้างรัฐที่จะทำให้มนุษย์มีความสุข เหมาะกับธรรมชาติของมนุษย์มากที่สุด สังคมที่ยุติธรรม สังคมที่มีคุณธรรม สังคมที่คนมีความสุข จึงนับเป็นเป้าหมาย ส่วนแนวคิดเรื่องรูปแบบการปกครองว่ารูปแบบใดจึงดีที่สุดนั้นเป็นวิธีการเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย บรรดาระบอบใด ๆ ที่ไม่ได้นำไปสู่เป้าหมาย ที่พึงปรารถนาของสังคมจะถูกทำลายลงในที่สุด

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่า ระบอบประชาธิปไตยดีกว่าระบอบการปกครองรูปแบบอื่น ๆ ล่าสุดเมื่อระบอบคอมมิวนิสต์ สหภาพโซเวียตล่มสลาย เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงชัยชนะของระบอบประชาธิปไตย เหนือระบอบการปกครองอื่น ๆ ทั่วโลก เพราะเป็นระบอบการปกครองเดียวที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

ชัยชนะของระบอบประชาธิปไตยในครั้งนี้ กลับส่งผลที่ตามมาและทำให้เรายอมรับโดยไม่รู้ตัว คือ การที่เรามองระบอบประชาธิปไตยเป็นเป้าหมาย แทนที่จะเป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่นำไปสู่เป้าหมายเท่านั้น 

ในความเป็นจริงแม้ผมจะนิยมระบอบประชาธิปไตยอย่างมากแต่เราก็ต้องยอมรับว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุดในบรรดาระบอบการปกครองที่มีอยู่ในขณะนี้ ประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความเลวร้าย หรือข้อผิดพลาดของระบอบนี้ยังคงมีอยู่ และมีผลกระทบต่อเป้าหมายของสังคมที่ทุกคนต่างปรารถนา

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา จึงเป็นเพียง  “ วิธีการ หนึ่งที่เข้ามาแทรกแซงระบอบการปกครองที่ไม่เอื้อต่อการตอบสนองเป้าหมายของสังคม สิ่งที่รัฐบาล

...ทักษิณ ได้กระทำส่อให้เห็นว่า ไม่ได้นำไปสู่สังคมที่ควรจะเป็น และไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายของสังคมที่ดีได้

 ถ้าคนไทยมองประชาธิปไตยเป็นเพียง เป้าหมาย โดยยึดมั่นว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ในทุก ๆ เวลา การประท้วงจะไม่เพียงยืดเยื้อแต่อาจเกิดความรุนแรงจนถึงขั้นนองเลือด หรือในทางตรงข้ามอาจถูกจัดการด้วยอำนาจที่อ้างเสียงส่วนใหญ่ ปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน และเปิดโอกาสให้อำนาจเผด็จการนี้ดำรงอยู่ต่อไป อาจนานนับสิบปี

แม้ว่าโดยปกติ วิธีการใด ๆ ก็ตามที่ขัดแย้งกับวิถีประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่ค่านิยมที่ทุกฝ่ายควรยอมรับ แต่ถึงกระนั้น หากเรามองเจตนาของผู้ก่อการว่า วิธีนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้อำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของประชาชนได้ดังเดิมหากจัดการอย่างถูกต้อง   ดังนั้น หากเราไม่มองประชาธิปไตยเป็นเพียง เป้าหมาย แต่มองเป็น วิธีการ ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายของสังคม การที่บุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งมีคุณธรรม และมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนเข้ามาแทรกแซง และรีบคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด วิธีการเช่นนี้อาจทำให้เราพิจารณาว่า สามารถเป็นที่ยอมรับมากกว่าการถูกประณามอย่างเร่งรีบ ได้หรือไม่?

   


-------------------------------