เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
จากการที่วิปรัฐบาลได้สรุปตัวเลขสถานการณ์ความไม่สงบใน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน
พ.ศ.2548
โดยเปรียบเทียบตัวเลขในช่วง 18-31 ก.ค.2548
พบว่าสถานการณ์ความรุนแรงลดลงเมื่อเทียบกับช่วง 1-18
ก.ค.2548
จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงจาก 85 ครั้ง เหลือ 48
ครั้งหลังการใช้ พ.ร.ก.
และความเสียหาย (จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต)
ลดลงจาก 89 คน เหลือ 42
คน
ผมได้นำตัวเลขเหตุการณ์ความไม่สงบและความเสียหาย ที่รวบรวมโดยวิปรัฐบาลมาพิจารณาอีกครั้ง
โดยนำมาเปรียบเทียบกัน 2 ช่วงเวลา
คือตั้งแต่เริ่มมีเหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 ม.ค.2547
ถึงวันที่ 19 ก.ค.2548
และ ตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.
ในวันที่ 18 ก.ค.
จนถึงวันที่ 18 ส.ค.
2548 เพื่อหาค่าเฉลี่ยต่อวันของเหตุการณ์ และความเสียหาย พบว่า
ค่าเฉลี่ยต่อวันของจำนวนเหตุการณ์ และความเสียหายลดลงจริง
แต่เหตุการณ์มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะ
มีการลอบยิงเพิ่มขึ้นจาก 1.59 เป็น 1.91
เหตุการณ์ต่อวัน มีการโจมตีเพิ่มขึ้นจาก 0.018
เป็น 0.125 เหตุการณ์ต่อวัน
มีการวางระเบิดเพิ่มขึ้นจาก 0.40 เป็น 0.59
เหตุการณ์ต่อวัน ส่วนเหตุการณ์ที่มีจำนวนลดลง
ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงในระดับต่ำ
ส่วนจำนวนคนตายต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 1.04 เป็น
1.16 คนต่อวัน โดยข้าราชการพลเรือนและลูกจ้างเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก
0.08 เป็น 0.13 คนต่อวัน
นักการเมืองท้องถิ่น เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 0.02 เป็น
0.06 คนต่อวัน และประการสำคัญ คือราษฎรทั่วไป
เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 0.57 เป็น 0.94
คนต่อวัน ส่วนคนกลุ่มอื่นมีค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตต่อวันลดลง
แม้ว่าข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ที่วิปรัฐบาลได้แสดงให้ประชาชนทราบ
จะยืนยันว่าจำนวนสถานการณ์ความรุนแรงได้ลดน้อยลงในระยะ
1 เดือน หลังการใช้ พ.ร.ก.
แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ได้ดีขึ้นแล้ว
เพราะอาจเป็นความจงใจของวิปที่เลือกข้อมูลบางช่วงเวลาออกมาเปรียบเทียบกันเท่านั้น
และระยะเวลาเพียง 1 เดือนยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า
สถานการณ์ในภาคใต้ดีขึ้นแล้ว หรือจะไม่กลับมารุนแรงเหมือนเดิมอีก
หากสถานการณ์ที่สงบลงบ้างอาจเป็นภาวะที่ผู้ก่อความไม่สงบดูท่าทีของรัฐบาลอยู่เท่านั้น
|