Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ความเหลื่อมล้ำในสังคม แก้ได้ด้วยการฟังเสียงประชาชน
Social disparity can be eliminated by listening to people’s opinions

 

27 ธันวาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ จัดทำโครงการความร่วมมือพัฒนาประเทศด้านการวิเคราะห์ ความยากจนและติดตามประเมินผล เพื่อเป็นโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลและความร่วมมือทางด้านวิชาการ ฯลฯ

ธนาคารโลกได้ให้ความเห็นว่า แม้สัดส่วนคนยากจนในประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่คิดว่าคนยากจนจะหมดไปในปี 2552 ตามเป้าหมายของรัฐบาล ในขณะที่ความไม่เทาเทียมกันของรายได้ยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ

ผมเห็นว่า สัดส่วนคนยากจนที่ลดลงนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับความสนใจและเอาใส่ใจ คือ จะทำอย่างไร เพื่อลดช่องว่างของการกระจายรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมา ดูเหมือนรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ผ่านนโยบาย อาทิ กองทุนหมู่บ้าน, SML และนโยบายการให้สินเชื่ออื่น ๆ ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้วยการแจกเงิน กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจดี ประชาชนมีเงินใช้จ่าย แต่ผลกลับทำให้ประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น วิธีการนี้ไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถนำเงินมาแจกประชาชนได้ตลอด

นอกจากนี้รัฐบาลยังใช้นโยบายคิดเอาเองว่าประชาชนควรได้อะไร และใช้นโยบายเหมือน ๆ กันกับประชาชนทุกกลุ่ม เช่นการแจกเงินให้กับทุกหมู่บ้านเท่ากัน หรือแบ่งตามขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม เพราะแต่ละหมู่บ้านต้องการเงินไม่เท่ากัน เนื่องจากความเจริญไม่เท่ากัน และความต้องการของหมู่บ้านไม่สามารถวัดได้ผ่านขนาดของหมู่บ้าน รวมถึงแต่ละหมู่บ้านต้องการทรัพยากรไม่เหมือนกัน และทรัพยากรบางอย่างไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน อาทิ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ,ทักษะและความรู้ในการประกอบอาชีพ ฯลฯ

ฉะนั้นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ รัฐบาลควรฟังว่าประชาชนต้องการอะไร เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนในการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อปรับปรุงนโยบายให้เกิดประโยชน์ และตรงตามความต้องการของประชาชน รวมทั้งใช้นโยบายที่แตกต่างแต่เหมาะสมกับประชาชนแต่ละกลุ่ม

โดยช่องทางหนึ่งในการรับฟังความเห็นของประชาชนที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ คือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเปรียบเหมือนสภาของประชาชน ที่มีความใกล้ชิดกับปัญหา และมีหน้าที่โดยตรงในการให้คำปรึกษา และเสนอแนะความคิดเห็นต่อรัฐบาล

และเป็นที่น่ายินดีที่สภาที่ปรึกษาฯในชุดที่ 2 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานใหม่ที่ชื่อว่า คณะทำงานกระจายรายได้ที่มีเพื่อนของผมที่ให้ความเคารพนับถืออย่างมากชื่อ ดร.นลินี ทวีสินเป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานภายใต้การนำของ ดร.นลินี ทวีสิน ท่านนี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาความแตกต่างทางรายได้ การกระจายทรัพยากร และการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานรากของประชาชน คือ เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย สภาที่ปรึกษาฯจึงน่าจะเป็นนี้จะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนรัฐบาล ในการแก้ปัญหาการกระจายรายได้และปัญหาความยากจน หากรัฐบาลจะหัดฟังเสียงประชาชนเสียบ้าง