Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


 

การพัฒนากระบวนการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ
Developing the Process of Minimum Wage Consideration

 

27  กรกฎาคม 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                  

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 35 จังหวัด แต่ไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 41 จังหวัดที่เหลือ โดยอ้างว่าคณะอนุกรรมการค่าจ้างในจังหวัดดังกล่าวมิได้ส่งเรื่องเพื่อขอขึ้นค่าจ้าง เนื่องด้วยลูกจ้างในจังหวัดเหล่านั้นไม่มีปัญหาเรื่องค่าครองชีพและปัญหาเงินเฟ้อ

แต่ในเวลาต่อมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกคำสั่งให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางทบทวนการขึ้นค่าจ้างใน 35 จังหวัด พร้อมยืนยันว่าการขึ้นค่าจ้างควรต้องทำพร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ควรเลือกปฏิบัติหรือปรับให้เพียงบางจังหวัดเท่านั้น

ผมไม่ได้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำพร้อมกันทั้งประเทศ แต่ผมเห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดควรปรับขึ้นหรือไม่ปรับขึ้นนั้น จะต้องพิจารณาอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรม และไม่ว่ารัฐมนตรีได้สั่งให้มีการทบทวนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำด้วยแรงจูงใจอันใด แต่ผมไม่เห็นว่า รัฐมนตรีได้ให้หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่นี้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเหตุผลที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางอ้างเพื่อที่จะไม่ปรับขึ้นค่าจ้างใน 41 จังหวัดนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ด้วยเหตุที่แรงงานในพื้นที่บางจังหวัดที่ไม่ได้มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น กลับประสบปัญหาค่าครองชีพมากกว่าในจังหวัดที่ได้รับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเสียอีก

ทั้งนี้ เมื่อเราพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อรายจังหวัด ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในแต่ละจังหวัด จะพบว่า จังหวัดที่มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มีค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ประมาณร้อยละ 5.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จังหวัดที่ไม่ได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกลับมีค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดียวกันสูงกว่า คือประมาณร้อยละ 6.59 หรือหมายความว่า จังหวัดที่มีราคาสินค้าสูงขึ้นมากกลับไม่ได้ถูกปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่จังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกลับเป็นจังหวัดที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นน้อยกว่า

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือจังหวัดบางแห่งมีอัตราเงินเฟ้อสูงมาก แต่คณะกรรมการค่าจ้างกลับไม่มีมติให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้นต่ำ เช่น จังหวัดพัทลุงที่อัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในประเทศถึงร้อยละ 12.2 ระยองที่อัตราเงินเฟ้อสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศที่ร้อยละ 9.6 หรือสระบุรี ปทุมธานี พังงา นครนายก พะเยา ตรัง ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 8.4-9.2 เป็นต้น ขณะที่จังหวัดที่มีอัตราเงินเฟ้อติดกลุ่มต่ำสุดของประเทศ เช่น น่าน แพร่ นครพนม และอำนาจเจริญ ที่มีอัตราเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 3.3-3.7 เท่านั้น กลับได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

ปัญหาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ดูเหมือนขาดความที่สมเหตุสมผลเช่นนี้ สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการกระจายอำนาจให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างในแต่ละจังหวัด แต่รัฐบาลกลับไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำลงไปด้วย ด้วยเหตุนี้อนุกรรมการค่าจ้างของแต่ละจังหวัดจึงใช้หลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันในพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ

ผมจึงขอเสนอว่า กระบวนการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน คณะกรรมการค่าจ้างกลางจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และสูตรคำนวณที่ใช้ที่เป็นมาตรฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างชัดเจน และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อให้การพิจารณาของอนุกรรมการฯ อยู่บนหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจนและสามารถวัดได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

ผมตั้งข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่า การกระจายอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างโดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ยังอาจทำให้คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดบางแห่งไม่ได้นำข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจมาพิจารณาอย่างแท้จริง แต่การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างมักขึ้นกับอำนาจการต่อรองของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างเป็นสำคัญ ในคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่ฝ่ายนายจ้างมีอำนาจการต่อรองสูง โอกาสที่ฝ่ายลูกจ้างจะถูกกดขี่ย่อมมีมากกว่าจังหวัดที่นายจ้างมีอำนาจการต่อรองน้อย

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้คัดค้านการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายจังหวัด ในทางตรงกันข้าม ผมได้เคยเสนอแนะต่อกระทรวงแรงงานให้มีการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายอำเภอและรายอุตสาหกรรมเสียด้วยซ้ำ เพราะในจังหวัดเดียวกัน พื้นที่ในเขตเมืองและเขตชนบทยังมีระดับค่าครองชีพที่แตกต่างกัน และแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันจะมีผลิตภาพของแรงงาน (Labour productivity) ที่แตกต่างกัน จึงควรได้รับค่าจ้างที่แตกต่างกัน

แต่เนื่องด้วยความจำกัดของระบบการจัดเก็บข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผมเสนอว่ารัฐบาลควรเริ่มต้นจากการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมรายจังหวัด ให้มีข้อมูลดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ที่ทันสมัยและครบถ้วนเพียงพอตามหลักเกณฑ์ หรือเพียงพอสำหรับการคำนวณตามสูตรค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางกำหนดขึ้นตามข้อเสนอที่ผมได้เสนอข้างต้น และในระยะต่อไปจึงพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมให้มีความละเอียดถึงระดับอำเภอและระดับอุตสาหกรรม

ประการสุดท้าย ผมเสนอว่าควรกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการและอนุกรรมการค่าจ้างฯ โดยกำหนดองค์ประกอบและคุณสมบัติของกรรมการและอนุกรรมการค่าจ้างที่รัดกุมมากขึ้น เนื่องจากคณะอนุกรรมการฝ่ายลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นลูกจ้างที่รับค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ไม่เข้าใจความต้องการของลูกจ้างที่แท้จริง คุณสมบัติคณะกรรมการและอนุกรรมการจึงควรได้รับการปรับปรุงเสียใหม่ เพื่อทำให้ได้คนที่เป็นตัวแทนของลูกจ้างและนายจ้างส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

การมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะทำให้อัตราค่าจ้างมีความเหมาะสมเป็นผลดีต่อลูกจ้าง ไม่เป็นภาระของนายจ้างมากเกินไป และไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ประการสำคัญ ค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการหาเสียงอีกต่อไป

    



-------------------------------