Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

สิ่งที่ควรเพิ่มเติมจากถุงรับขวัญ
Government Gifts: Babies gain form Greater Choice

 

27 กรกฏาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก         

นอกจากถุงรับขวัญควรสำหรับเด็ก ควรเพิ่ม “ถุงพัฒนาทักษะการเรียนรู้” แนะนำหนังสือ แหล่งเรียนรู้ ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อช่วยพัฒนาระดับสติปัญญาเด็กในระยะยาว

ถุงรับขวัญเด็กแรกเกิด เป็นแนวคิดของสถาบันพัฒนาการการเรียนรู้ (สวร.) กระทรวงสาธารณสุข สืบเนื่องมาจากมีการศึกษาวิจัยระดับสติปัญญาเด็กหรือ ไอคิว พบว่าเด็กไทยไอคิวต่ำเป็นจำนวนมาก

ภายในถุงรับขวัญประกอบไปด้วยสิ่งที่พ่อแม่นำไปใช้ในการส่งเสริมหรือกระตุ้นพัฒนาการสมองของลูก ได้แก่ ผ้าห่มพัฒนาการ, หนังสือคู่มือแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 2 ปี, เทปหรือซีดีเพลงกล่อมลูกภาคต่าง ๆ, ของเล่นพัฒนาการ, หนังสือนุ่มนิ่มลอยน้ำ, หนังสือร้องเล่นเต้นเพลิน, สติกเกอร์สำหรับติดเปลเด็กเพื่อเตือนให้พ่อแม่ใช้ถุงรับขวัญ, และหนังสือ “นมแม่ทุนสมองของลูก” เพื่อให้แม่เข้าใจถึงการเลี้ยงลูกด้วยนม โดยจะเริ่มต้นแจกในวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ทั่วประเทศ หลังจากนั้นอีก 3 เดือน จะมีการติดตามประเมินผล พัฒนาการเด็ก ระดับไอคิว อีคิว และพฤติกรรมของพ่อแม่ในการกระตุ้นพัฒนาการเด็กจนเด็กอายุ 1 ปีครึ่ง

นับเป็นแนวคิดที่ดีในการพัฒนาการสติปัญญาของเด็กตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งผมได้เคยเสนอให้กับรัฐบาลทักษิณ 1 ไว้ แต่สิ่งที่ควรเพิ่มเติมหลังจากเด็กอายุ 1 ปีครึ่งนั้น เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน

ผมมีความคิดเห็นว่าหลังจาก 1 ปีครึ่ง รัฐบาลควรแนะนำพ่อแม่ให้ปลูกฝังให้เด็กรักการเรียนรู้ เพื่อให้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเมื่อโตขึ้น ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาระดับสติปัญญาของเด็กในขั้นต่อมา โดยการมอบ “ถุงพัฒนาทักษะการเรียนรู้” ภายในถุงจะมีหนังสือที่แนะนำแนวทางที่ทำให้เด็กรักการอ่าน รักการเรียนรู้ แนะนำห้องสมุดที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถไปยืมหนังสือมาอ่านให้ลูกฟัง แนะนำหนังสือสำหรับเด็กวัยในแต่ละวัย แนะนำพิพิธภัณฑ์ หรือแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เมื่อลูกเติบโตขึ้นเขาจะรักการอ่านรักการค้นคว้า ซึ่งช่วยพัฒนาระดับสติปัญญา และช่วยสร้างความอบอุ่นในครอบครัวอีกด้วย ส่วนตัวผมเองเป็นนักสะสมหนังสือคนหนึ่ง และได้ปลูกฝังให้ลูกรักการเรียนรู้ และรักการอ่านตั้งแต่ยังเด็ก จนลูกชายของผมทั้ง 2 คนกลายเป็นคนรักหนังสือไปแล้ว

ผมคิดว่าการที่ทำให้เด็กมีไอคิวสูงได้นั้น นอกจากการดูแลเด็กให้ดีตั้งแต่แรกเกิด ยังต้องทำให้เด็กรักที่จะพัฒนาตนเองเมื่อโตขึ้นด้วย ดังนั้นนอกจากรัฐบาลจะมอบสิ่งของจำเป็นในการพัฒนาร่างกายพัฒนาสมองของเด็กในระยะเริ่มแรกแล้ว ควรแนะนำพ่อแม่ให้ช่วยพัฒนาลูกด้านการเรียนรู้หลังจากนั้นด้วย เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาระดับสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการปลูกฝังให้เด็กรักการเรียนรู้ด้วย