Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ข้อพึงระวังจากการทำ Barter trade

 

27 มิถุนายน 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก         
       
barter trade เสี่ยงเปิดช่องคอร์รัปชันข้ามชาติ ไม่ช่วยแก้ขาดดุลฯ และทำให้การค้าระหว่างประเทศขาดประสิทธิภาพ

ภายหลังการประชุม ครม
. กลุ่มย่อยเพื่อวางยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2548 ที่ห้องประชุมกองทัพเรือ ที่ประชุมได้เห็นชอบที่จะให้มีการปรับโครงสร้างการผลิต การเพิ่มค่าการตลาด โดยที่ประชุมจะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ barter trade หรือการแลกเปลี่ยนสินค้าขึ้น ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดตั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าการเกษตรของไทยกับสินค้าประเภทอื่นของต่างประเทศ        

รัฐบาลคาดหวังว่า การทำ
barter trade เป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกร ในกรณีที่ปริมาณสินค้าเกษตรมีจำนวนมากเกินความต้องการในประเทศ จนทำให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศตกต่ำ การระบายสินค้าออกสู่ต่างประเทศจะทำให้ราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้น เป็นผลดีต่อเกษตรกร รวมทั้งนายกรัฐมนตรียังเคยคาดหวังว่า barter trade จะช่วยลดแรงกดดันต่อปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม
barter trade อาจจะไม่ได้ผลดังที่รัฐบาลคาดหวังไว้ เนื่องจาก

barter trade
เปิดช่องให้คอร์รัปชันได้
เพราะรัฐบาลจะต้องรับซื้อสินค้าเกษตรในประเทศในราคาสูงกว่าราคาตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และนำสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าของต่างประเทศ ในอัตราที่เทียบได้กับราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รับซื้อมา (เพราะการที่ราคาสินค้าเกษตรในประเทศต่ำลง แสดงว่าสินค้าชนิดนั้นในตลาดโลกย่อมต่ำลงด้วย) อย่างไรก็ตาม การกำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนสินค้าเกิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด จึงมีความเสี่ยงที่จะมีความตกลงที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่มีอำนาจในการเจรจาของทั้งสองประเทศ

barter trade
ไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าได้มากนัก
เพราะการทำ barter trade เป็นการนำสินค้าไปแลกกับต่างประเทศในมูลค่าที่เท่า ๆ กัน จึงไม่ได้ช่วยให้ดุลการค้าดีขึ้น และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะทำ barter trade กับประเทศที่ไทยจะต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศนั้น แต่คำถามคือ ประเทศเหล่านั้นต้องการสินค้าเกษตรของไทยหรือไม่ และต้องการในปริมาณเท่าไร และรัฐบาลไทยจะทำให้เขาซื้อสินค้าเกษตรจากไทยเพิ่มขึ้นจากปริมาณโดยปกติได้อย่างไร

barter trade
ทำให้การค้าระหว่างประเทศขาดประสิทธิภาพ
barter trade เป็นการค้าระหว่างรัฐบาลของ 2 ประเทศ แต่การค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการค้าระหว่างเอกชน นอกจาก barter trade จะทำให้การกำหนดราคาสินค้าอาจไม่เป็นไปตามกลไกตลาดแล้ว ยังทำให้ระบบการค้าระหว่างประเทศขาดความยืดหยุ่น และการที่รัฐบาลทั้งสองประเทศจะมีความต้องการสินค้าที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้พอดีเป็นไปได้ยาก รวมทั้งการที่รัฐบาลจะทำตัวเป็นนายหน้าค้าขายแทนภาคเอกชน จะทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนในการทำการค้า และไม่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 

วิธี
barter trade อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพราะการจัดการด้านอุปทานของสินค้าเกษตรตั้งแต่ก่อนทำการผลิต และการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าในการจัดการปัญหานี้