เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
มาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวของรัฐบาลอาจแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้น
แต่ระยะยาวต้องจัดการแรงงานทั้งระบบ โดยสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าว
ปรับโครงสร้างการจ้างงาน ย้ายอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นอยู่ตะเข็บชายแดน
ย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามแก้ไข
โดยล่าสุดได้มีมติจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่
19 กรกฎาคม
ให้ขยายเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรของแรงงานต่างด้าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย
และการจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ
หรือทำงานตามฤดูกาลบริเวณชายแดนให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว
การจัดการกับปัญหาแรงงานต่างด้าวให้ได้ผลอย่างยั่งยืนนั้น
จำเป็นต้องมีความเข้าใจแรงจูงใจทางเศรษฐกิจของนายจ้าง ลูกจ้าง
และแรงงานต่างด้าว และคำนึงถึงผลได้-ผลเสียระยะยาว
เนื่องจากค่าแรงงานต่างด้าวถูกกว่าคนไทยคือ เฉลี่ยวันละ 125-128
บาท
ดังนั้นผู้ประกอบการจึงเลือกจ้างแรงงานต่างด้าวมากกว่าแรงงานไทย
นอกจากนี้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาตามชายแดนควบคุมได้ยาก
และจะเข้ามาตามแรงจูงใจทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงว่าผิดกฎหมายหรือไม่ มาตรการแก้ปัญหาจึงไม่ใช่เพียงการจัดการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวเท่านั้น
แต่ต้องใช้วิธีการจัดการแรงงานทั้งระบบ โดยผมมีข้อเสนอดังนี้
สำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ
สำรวจความต้องการแรงงานต่างประเทศในทุกประเภท ทุกระดับ
ตั้งแต่ระดับมันสมอง คนที่ชำนาญในวิชาชีพเฉพาะทาง แรงงานในสาขาที่ไทยขาดแคลน
ไปจนถึงแรงงานไร้ฝีมือประเภทต่าง ๆ
เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการกำหนดมาตรการด้านแรงงานกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ได้อย่างเหมาะสม
ปรับโครงสร้างการจ้างงานไปสู่ภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
รัฐบาลควรเร่งยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้มีทักษะสูงขึ้น
เพื่อย้ายไปทำงานในภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งให้ค่าจ้างที่สูงกว่า
นอกจากนี้ รัฐอาจจัดทำโครงการฝึกอบรมแรงงานไทยป้อนตลาดโลก
โดยการสำรวจความต้องการแรงงานในต่างประเทศ
และฝึกอบรมแรงงานไทยให้มีทักษะตรงตามความต้องการในตลาดต่างประเทศ
และสนับสนุนให้แรงงานไทยไปทำงานยังต่างประเทศ
ย้ายอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นอยู่ตะเข็บชายแดน
หากต้องการให้มาตรการจัดการแรงงานต่างด้าวที่ทำงานแบบไป-กลับเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
รัฐควรสนับสนุนให้เขตชายแดนเป็นเขตอุตสาหกรรมแรงงานราคาถูก
และจัดมาตรการส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังชายแดนไทย
เช่น การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบคมนาคขนส่ง
มาตรการรักษาความปลอดภัยในแถบชายแดนให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเขตอุตสาหกรรมใหม่
รวมถึงการอนุญาตให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นใช้แรงงานต่างด้าวได้เต็มที่
ย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการกำหนดมาตรการคุ้มครองการลงทุนจากไทย
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน
และการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
ซึ่งจะทำให้แรงงานต่างด้าวที่เดินทางมาขายแรงงานในประเทศไทยลดลงในระยะยาว
ในขณะเดียวกันยังสามารถรักษาความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือของไทยไว้ได้ด้วย
|