Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


ความผิด
7 ประการของทักษิโนมิกส์
Seven misleading points of Thaksinomic

26 มีนาคม 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

ความสำคัญตนผิดของคุณทักษิณโดยนึกเอาเองว่า หากตนเองลาออกแล้ว ประเทศไทยจะพินาศล่มจม และจะต้องเข้าสู่โปรแกรมของไอเอ็มเอฟอีกครั้งนั้น ผมกลับคิดว่า หากนายกฯไม่ออกไป ประเทศไทยอาจจะต้องเข้าไอเอ็มเอฟอีกอย่างแน่นอน เพราะนโยบายเศรษฐกิจแบบทักษิโณมิกส์อาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหายรุนแรง เนื่องด้วยมีความผิดอย่างน้อย 7 ประการของทักษิโณมิกส์

หนึ่ง อุดมการณ์ที่ผิด ทักษิโณมิกส์ไม่ใช่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า การ “คิดใหม่ ทำใหม่” แต่เป็นเพียงยี่ห้อที่สร้างขึ้นให้ประชาชนรู้สึกตื่นเต้น ในความเป็นจริง อุดมการณ์ของทักษิโณมิกส์คือ “ไม่มีอุดมการณ์” เป็นเพียงแนวคิดและนโยบายเลียนแบบของเก่า ที่นำมากองรวมกันอย่างสะแปะสะปะ มีจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และนโยบายจำนวนมากยังขัดแย้งกันเอง เช่น รัฐบาลเปิดเอฟทีเอนำเข้าโคเนื้อจากออสเตรเลีย แต่กลับส่งเสริมให้เลี้ยงโคตามโครงการโคล้านครอบครัว รัฐบาลพยายามแปรรูป กฟผ. แต่กลับพยายามซื้อกิจการรถไฟฟ้าบีทีเอสคืนมาเป็นของรัฐ เป็นต้น นโยบายเศรษฐกิจที่ไร้จุดยืนเช่นนี้ย่อมสร้างความสับสน ความไร้เสถียรภาพ และความไม่เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจได้

สอง สมมติฐานที่ผิด รัฐบาลมีสมมติฐานในการบริหารเศรษฐกิจเช่นเดียวกับการบริหารบริษัท ดังนั้นในระบอบทักษิณ นายกรัฐมนตรีจึงเปรียบเสมือน “เจ้าของบริษัท” หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็น “เจ้าของประเทศ” รัฐมนตรี นักการเมืองในพรรค และข้าราชการ จึงถูกปฏิบัติเสมือนลูกจ้าง ขณะที่ประชาชนเป็นเพียงลูกค้าของบริษัท ด้วยสมมติฐานเช่นนี้ นายกฯจึงเป็นผู้มีอำนาจสั่งการเด็ดขาด และสามารถกำหนดนโยบายที่นำประเทศไปสุ่มเสี่ยงได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร ทั้งที่ในความเป็นจริง ประเทศไม่ใช่บริษัท เพราะบริษัทสามารถล้มละลายและขายสินทรัพย์ทอดตลาดเพื่อปิดบัญชีได้ แต่ประเทศไม่สามารถล้มละลายหรือขายให้ใครได้

สาม วัตถุประสงค์ที่ผิด ทักษิโณมิกส์เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง ที่เน้นสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองอย่างสุดโต่ง และแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยเน้นเฉพาะผลระยะสั้น แต่ละเลยผลกระทบระยะยาว สังเกตได้จากการหว่านเงินก่อนการเลือกตั้ง เช่น ขึ้นเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานและลูกจ้างหน่วยงานราชการ แจกคอมพิวเตอร์ เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน รวมงบฯเฉพาะโครงการที่มีตัวเลขชัดเจน 5,984.9 ล้านบาท รวมทั้งการครหาว่ามีคอร์รัปชันและผลประโยชน์ทับซ้อนจำนวนมาก ที่จะส่งผลให้มีความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น เพราะผลประโยชน์ส่วนใหญ่มักตกกับกลุ่มทุนที่พวกของรัฐบาล

สี่ บทบาทรัฐบาลที่ผิด เพราะรัฐบาลพยายามมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แต่กลับทำให้ภาคประชาชนกลับอ่อนแอลง ต้องพึ่งพารัฐและพึ่งพานายกฯมากขึ้น โดยการจัดงบกลางถึง 1 ใน 5 ของงบประมาณแผ่นดิน เงินนอกงบประมาณอีกกว่า 4.12 แสนล้านบาท และเงินหวยบนดิน ให้นายกฯใช้จ่ายตามใจชอบ จนทำให้ประชาชนคิดว่าเป็นเงินของทักษิณ รวมทั้งการแจกเงิน แจกของ และปลดหนี้ การไม่โอนงบฯ ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และตัดบทบาทขององค์กรภาคประชาชนด้วยการส่งเงินให้ชุมชนโดยตรง ส่งผลทำให้กลไกชุมชนอ่อนแอ การดำเนินบทบาทของรัฐเช่นนี้ยิ่งทำให้เศรษฐกิจรากหญ้าอ่อนแอมากยิ่งขึ้น

ห้า ปัจจัยขับเคลื่อนที่ผิด เพราะเน้นการใช้จ่ายภาครัฐอย่างขาดประสิทธิภาพ การบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย และการลงทุนที่ไม่มีคุณภาพ อาทิ การส่งเสริมให้ประชาชนเป็นหนี้บัตรเครดิต การนำหวยขึ้นบนดิน การส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ ปัจจัยเหล่านี้ไม่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน แต่จะทำให้รัฐบาลถังแตกและเป็นหนี้สาธารณะ ประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น และความสามารถในการแข่งขันแย่ลง เพราะเศรษฐกิจเติบโตอย่างไม่มีคุณภาพ จากงบประมาณ ทรัพยากร และทุนที่มีจำกัด ไม่ได้เติบโตจากการพัฒนาผลิตภาพ และนวัตกรรม ซึ่งไม่แตกต่างจากปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 แต่อย่างใด

หก กระบวนการที่ผิด การจัดระบบและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐบาลทักษิณ ได้ทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม ผูกขาด ตัดตอน ครอบงำกิจการรัฐโดยกลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาล การกำหนดนโยบายขาดการศึกษาวิจัย ไม่มีธรรมาภิบาล และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการทำเอฟทีเอที่ขาดการศึกษาวิจัย ขาดการรับฟังความเห็น ขาดความโปร่งใส และขาดการเตรียมพร้อม การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีการแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดนักการเมือง

ดังเห็นตัวอย่างได้จากผลการพิจารณาของศาลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ให้เพิกถอนการกระจายหุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีส่วนได้เสียกับการแปรรูป ทั้งกรณีการส่ง "โอฬาร ไชยประวัติ" ที่เป็นกรรมการชินคอร์ปและปตท. มาจัดตั้งบริษัทกฟผ. และยังมี "ปริญญา นุตาลัย" มาเป็นประธานรับฟังความเห็นประชาชน ทั้งที่มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรมต.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ตลอดจนการกำหนดขั้นตอนการประมูลงานโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ไม่โปร่งใส กระบวนการเช่นนี้ย่อมสร้างความอ่อนแอให้กับระบบเศรษฐกิจ ทำให้ระบบเศรษฐกิจขาดประสิทธิภาพเนื่องจากการผูกขาด และทำให้ประชาชนและภาคเอกชนอีกส่วนหนึ่งไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะขาดกระบวนการเตรียมความพร้อม

เจ็ด การส่งสัญญาณที่ผิด รัฐบาลเน้นสร้างภาพว่าเศรษฐกิจดี โดยเฉพาะนายกฯพยายามคาดการณ์จีดีพีสูง ๆ แต่คาดผิดมาตลอด ขณะที่หน่วยราชการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 49 สูงเกินจริง โดยละเลยตัวแปรทางการเมืองทั้งที่มีผลต่อเศรษฐกิจมาก การโกหกว่าจัดทำงบฯสมดุล โกหกว่าจะทำโครงการยักษ์ต่าง ๆ แต่ไม่ทำจริง การตบแต่งตัวเลขยอดขายสินค้าโอท็อป พฤติกรรมเช่นนี้จะนำพาประชาชนและภาคเอกชนเข้าสู่ความเสี่ยง เพราะอาจลงทุนหรือใช้จ่ายมากเกินไป หรืออาจขาดทุนหากลงทุนตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งมีความเสี่ยงจะเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ เพราะรัฐบาลทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังสูงเกินกว่าพื้นฐานที่แท้จริง

 การที่คุณทักษิณยังเป็นนายกฯ อยู่ต่อไป โดยไม่ลาออก และรัฐบาลจะยังคงใช้นโยบายเศรษฐกิจยี่ห้อ “ทักษิโณมิกส์” ต่อไป ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะไปสู่วิกฤต และเป็นความเสี่ยงมากกว่าการที่นายกฯ ลาออกไปเสียอีก

-------------------------------