Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

การสร้างจุดเด่นให้มหาวิทยาลัยในยุคของการแข่งขัน
Trends of University in the Future

 

25 ตุลาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก     

ในวันพรุ่งนี้ อังคาร 26 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 22 ปีที่ 1 ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) มีเรื่องที่น่าสนใจที่ผมอยากสื่อสารให้มิตรสหายทราบเรื่องหนึ่งคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ผมได้สงวนความคิดเห็นในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย

แนวคิดหนึ่งที่เป็นหลักคิดสำหรับการสงวนความคิดเห็นในครั้งนี้คือ การให้มหาวิทยาลัยพัฒนาตามความเชี่ยวชาญของตน กล่าวง่าย ๆ คือ การให้มหาวิทยาลัยมีจุดเด่นของตัวเอง และพัฒนาทุกศาสตร์ที่เปิดสอนให้บูรณาการกับจุดเด่นนั้น ทั้งนี้เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวจะช่วยให้มหาวิทยาลัยของไทยสามารถโดดเด่นได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ตัวอย่างจากต่างประเทศที่ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยเหล่านั้นประสบความสำเร็จในการสร้างจุดเด่นของตนเอง ซึ่งหลายแห่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดใหม่ แต่กลับมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในกลุ่มผู้เรียนที่ต้องการแสวงหาทางเลือกใหม่ ๆ ในการศึกษา ดังที่นิตยสารนิวส์วีค (Newsweek) ฉบับวันที่ 5 กันยายน 2005 ได้เสนอเรื่องนวัตกรรมของการขายจุดเด่นของมหาวิทยาลัยในรูปแบบต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ตัวอย่างการสร้างจุดเด่นของมหาวิทยาลัยมีหลากหลายแบบ อาทิ

จุดเด่นด้านการสร้างบรรยากาศที่น่าอยู่และน่าเรียน ใน Paul Smith's College ผู้เรียนจะรู้สึกว่าที่นี่เหมือนอยู่ในสถานตากอากาศ เพราะวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่บนเขา เนื้อที่กว้างขวาง มีนักศึกษาเพียง 850 คน หลักสูตรที่เปิดสอนเป็นเรื่องที่ให้ความสนุกผ่อนคลายเช่น วิชาเดินทางไกลด้วยสกี หรือด้วยรองเท้าลุยหิมะ

จุดเด่นด้านการสร้างหลักสูตรนานาชาติ ใน Middlebury College วิทยาลัยแห่งนี้มีคณาจารย์ที่สามารถพูดและสอนภาษาต่างประเทศได้ถึง 9 ภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาอารบิค จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น ฯลฯ อีกทั้งวิทยาลัยนี้มีอาจารย์ไปจัดหลักสูตรในต่างประเทศมากถึง 10 ประเทศ

จุดเด่นด้านการเรียนวิทยาศาสตร์ที่เข้าถึงแหล่งศึกษาที่หลากหลาย ในUniversity of California มีจุดเด่นที่การเรียนการสอนให้ความสำคัญในการให้นักศึกษาได้ทดลอง และเข้าถึงแหล่งความรู้ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่หลากหลาย รวมถึงได้มีการเปิดสอนด้านวิทยาศาสตร์ในแขนงใหม่ ๆ เช่น การสังเคราะห์โมเลกุล (molecular synthesis) ข้อมูลทางชีวภาพ (Bioinformatics) เป็นต้น

ทางเลือกที่หลากหลายให้ผู้เรียนดังตัวอย่างข้างต้นนี้ เป็นแนวคิดที่อยู่บนฐานการจัดการอุดมศึกษาตามจุดแกร่งหรือตามที่ตนเองมีศักยภาพความพร้อม นับเป็นแนวคิดใหม่ที่มหาวิทยาลัยไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีหลากหลายคณะและสาขาวิชา ควรให้ความสนใจ หรือลองศึกษาจากต้นแบบเหล่านี้และนำมาประยุกต์ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างจุดเด่นของตนขึ้นมา เพราะจะมีส่วนในการสร้างชื่อเสียงและดึงดูดผู้เรียนจากทั้งในและต่างประเทศทั่วโลกได้

หากวิเคราะห์การจัดการศึกษาตามจุดเด่นหรือจุดแกร่งของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ผมเห็นว่ามีความเป็นไปได้มากที่จะเกิดขึ้น เนื่องด้วยเหตุผลในหลายประการ เช่น

การเปิดเสรีการศึกษา ที่จะกระทบต่อการศึกษาของไทย ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น เนื่องจากจะมีมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศเข้ามาเปิดสอนในประเทศ รวมถึงการให้อิสระกับผู้เรียนในการเลือกศึกษาต่อในประเทศคู้ค้าโดยไม่มีเงื่อนไขกีดกัน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงควรทบทวนจุดยืนและแนวทางในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อดึงดูดใจทั้งผู้เรียนที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับมหาวิทยาลัยเอง

การเปลี่ยนแปลงสถานะภาพของมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ซึ่งมีอิสระในการบริหารจัดการบุคลากร งบประมาณ และวิชาการ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องตื่นตัวในการบริหารหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยตนเองมากขึ้น

การมีความจำกัดด้านงบประมาณทำให้ควรจัดสรรเงินอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีต้นทุนสูง ในขณะที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ค่อนข้างมีความจำกัดด้านการเงิน ดังนั้นหากมหาวิทยาลัยจัดการศึกษาตามจุดแกร่งหรือที่ตนเองเชี่ยวชาญ ย่อมจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรมากกว่า และมีโอกาสในการจัดการศึกษาในด้านนั้นได้อย่างมีคุณภาพ และเชี่ยวชาญ จนสามารถสร้างชื่อเสียง และแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและโลก

การไหลเข้ามาของกระแสยุคหลังทันสมัย และสิทธิมนุษยชน ทำให้คนเริ่มสนใจศึกษาเรื่องที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงต้องจัดหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อรองรับความสนใจของผู้เรียน เช่น เพศศึกษา (Gender study) การตัดต่อทางพันธุกรรม ปรัชญา ฯลฯ
ดังนั้นเส้นทางการจัดการศึกษาตามจุดแกร่งหรือที่ตนเองเด่น จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการบริหารการอุดมศึกษาที่น่าสนใจ อันจะก่อให้เกิดความหลากหลาย คุณภาพระดับเชี่ยวชาญ การสร้างชื่อเสียง และการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก