Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


ทักษิณและมาร์กอส (4) : ผลประโยชน์ทับซ้อน
Thaksin & Ferdinand Marcos IV : The Conflicts of Interest

 

25 มีนาคม 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

ที่ผ่านมา ผมได้เปรียบเทียบความเหมือนระหว่างรัฐบาลคู่แฝดต่างยุค คือ รัฐบาลมาร์กอสและรัฐบาลทักษิณในแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นของความเป็นเผด็จการรัฐสภา การออกกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตนเอง การปิดกั้นและแทรกแซงสื่อ การสร้างฐานเสียงสนับสนุนทางการเมืองโดยใช้นโยบายประชานิยม และการวางคนสนิทและพวกพ้องในตำแหน่งสำคัญ ๆ รวมไปถึงการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศ และในบทความนี้เป็นความเหมือนอีกประการหนึ่ง คือ การมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ในรัฐบาล

ประธานาธิบดีมาร์กอสนั้นมีผลงานที่โดดเด่นเป็นที่จดจำ คือ การคอร์รัปชันอย่างมโหฬารติดอันดับโลก มาร์กอสดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อญาติพี่น้องและพวกพ้องของตนเอง โดยเฉพาะการให้บริษัทฯในเครือญาติชนะการประมูลโครงการสำคัญของรัฐ เช่น โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม การส่งออกน้ำตาล หนังสือพิมพ์ และน้ำมัน ซึ่งบางโครงการได้รับการยกเว้นเก็บภาษีเข้ารัฐ

มาร์กอสยังใช้อำนาจรัฐครอบงำและทำลายธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางการเมือง เพื่อทำให้ธุรกิจของครอบครัวและพวกพ้องสามารถครอบครองอุตสาหกรรมหลักของประเทศไว้ได้ทั้งหมด ซึ่งในสมัยที่ประธานาธิบดีมาร์กอสดำรงตำแหน่ง มีเพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐและครอบครองเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ได้แก่ ตระกูลโลเปซ โรมัวล์เดช ตัน โคฮวงโก อายาลา และโซริยาโน

เมื่อหันมาพิจารณา ระบอบทักษิณในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือการกำหนดนโยบายที่ทำให้ธุรกิจของตนเองและพวกพ้องได้รับผลประโยชน์ เช่น การแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตโทรคมนาคมเพื่อให้ธุรกิจบริการโทรศัพท์มือถือของครอบครัวนายกฯได้รับประโยชน์ การให้สัมปทานพัฒนาพื้นที่อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินแก่บริษัทของลูกชายนายกฯ การให้ EXIM Bank อนุมัติเงินกู้ให้แก่รัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินดังกล่าวมาจ้างบริษัทชินแซทฯ รับงานเครือข่ายดาวเทียม ตลอดจนการยกเว้นภาษีให้กับโครงการดาวเทียม IP Star ของบริษัทชินแซทฯ เป็นต้น

แนวนโยบายของรัฐบาลทักษิณยังมีความพยายามครอบงำหรือทำลายกิจการของรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคู่แข่งกับธุรกิจของคนในรัฐบาล อาทิ การขายหุ้นกิจการพลังงานของรัฐแล้วให้พวกพ้องของตนเข้าไปถือหุ้นโดยหวังผลประโยชน์จากการผูกขาดในกิจการนั้น การทำให้สายการบินไทยอ่อนแอเพื่อให้สายการบินต้นทุนต่ำของตนเองได้ประโยชน์ การทำให้โรงพยาบาลของรัฐมีคุณภาพต่ำด้วยการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคทั้ง ๆ ที่ไม่มีความพร้อม จนทำให้คนหันไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่ตนเองเข้าไปครอบงำกิจการ หรือการทำให้รัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารอ่อนแอจนมีการครหาว่าเพื่อที่จะไม่ขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับธุรกิจมือถือของตน หรือแม้แต่การจัดการกับเจ้าหนี้นอกระบบแต่กลับไม่จัดการกับบริษัทเงินด่วนของตนเองที่คิดดอกเบี้ยสูง ฯลฯ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในรัฐบาลทักษิณ มีตระกูลใหญ่เพียง 10 ตระกูลเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายที่ให้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งมีความพยายามแลกผลประโยชน์ของธุรกิจที่ใกล้ชิดรัฐบาลกับความเสียหายของภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลียที่แลกผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยานยนต์กับความเสียหายของอุตสาหกรรมโคเนื้อและโคนม เป็นต้น หรือการกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 5 ด้าน (Global Niche) โดยปราศจากผลการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบ

จากการศึกษาประวัติศาสตร์ พบว่า รัฐบาลเผด็จการแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามเป้าหมายของรัฐบาล รัฐบาลเผด็จการประเภทแรก เป็นรัฐบาลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเผด็จการ ตั้งแต่การรวบอำนาจ การแทรกแซงองค์กรต่าง ๆ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างชาติให้เข้มแข็ง ส่วนรัฐบาลเผด็จการประเภทที่สอง คือรัฐบาลที่มีพฤติกรรมเผด็จการเช่นกัน แต่กลับมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าของตนเองและพวกพ้อง รัฐบาลประเภทนี้ เราเรียกว่า “รัฐบาลเผด็จการทรราชย์”

-------------------------------