Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ข้อคิดในการผลักดันร่างกฎหมายของภาคประชาชน
How to push civil sector law enactment

 

24 ธันวาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนด้านสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคแก่ประชาชนเป็นสำคัญ ดังปรากฏในหลายมาตรา โดยเฉพาะการขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเมืองการปกครอง (มาตรา 170 และ 303-304) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 50,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐได้

นับตั้งแต่การใช้รัฐธรรมนูญฯ มาเป็นเวลา 8 ปีเศษ มีการเสนอร่างกฎหมายจากประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 16 ฉบับ แต่มีเพียง 7 ฉบับเท่านั้นที่ดำเนินการได้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และประเด็นที่น่าสนใจคือ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีร่างกฎหมายฉบับใดที่เสนอโดยประชาชนที่ถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย และในขณะนี้มีร่างกฎหมายเพียง 3 ฉบับเท่านั้นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา คือ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน และร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดภูเวียง ส่วนอีก 4 ฉบับต้องตกไป เพราะอายุของสภาผู้แทนราษฎรหมดลง โดยไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณา หรืออยู่ระหว่างการพิจารณารายชื่อของผู้เสนอร่างกฎหมายให้ครบถ้วน

จะเห็นได้ว่า กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาฯ และประกาศใช้เป็นกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ล้วนต้องเผชิญอุปสรรคทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องของความพยายามที่จะต้องรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ครบ 50,000 คน ความล่าช้าในการพิจารณากฎหมายของรัฐสภา รวมไปถึงเนื้อหาของร่างกฎหมายที่จะถูกแก้ไขให้ผิดไปจากเจตนารมย์เดิมของกฎหมาย

คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนจะได้รับความสนใจจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรคฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจที่จะผ่านกฎหมายฉบับนั้น ผมจึงมีข้อคิดในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

หนึ่ง…หาแนวร่วมสนับสนุนต่อร่างกฎหมาย ผมคิดว่าประเด็นหนึ่งที่ภาคประชาชนควรทำคือ การแสดงให้เห็นว่าร่างกฎหมายมีความสำคัญต่อภาพรวมของสังคมไทยอย่างไร ทั้งในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ หรือเป็นแนวนโยบายพื้นฐานที่รัฐพึงกระทำให้กับประชาชน ผู้เสนอกฎหมายจำเป็นต้องหาแนวร่วมจากสื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนต่อร่างกฎหมาย ย่อมทำให้ฝ่ายการเมืองต้องยอมรับและให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมากขึ้น

สอง…จัดทำงานวิจัยเพื่อสนับสนุนร่างกฎหมาย การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอาจมีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน ซึ่งอาจทำให้สังคมเกิดข้อกังขาถึงความจำเป็นหรือความเหมาะสมของร่างกฎหมาย ดังนั้นภาคประชาชนผู้เสนอกฎหมายควรพยายามทำวิจัยในเชิงวิชาการ ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อดีและผลประโยชน์ที่จะได้รับ รวมทั้งข้อเปรียบเทียบร่างกฎหมายดังกล่าวกับกฎหมายในประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับสังคมไทย ซึ่งจะทำให้ร่างกฎหมายมีน้ำหนัก และทำให้เห็นสภาฯ และประชาชนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว

สาม…ตั้งทีมติดตามการพิจารณาร่างกฎหมาย ภาคประชาชนไม่ควรนิ่งเฉยภายหลังเสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ แล้ว แต่ควรจัดตั้งทีมติดตามการพิจารณาร่างกฎหมาย ทั้งเรื่องของเนื้อหาสาระของกฎหมายที่จะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเจตนารมย์ของกฎหมาย และการติดตามความคืบหน้าของการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง หรือทวงถามต่อรัฐบาลและรัฐสภาฯ หากการพิจารณาร่างกฎหมายไม่มีความคืบหน้า ประเด็นหนึ่งที่ภาคประชาชนควรผลักดันให้เกิดขึ้น คือการกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอกฎหมาย และระยะเวลาในการนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะช่วยทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ร่างกฎหมายที่ตนเสนอจะได้รับการพิจารณาอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้หมายความว่าร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนจะถูกต้องและเหมาะสมทั้งหมด แต่ผมเห็นว่าฝ่ายการเมืองควรแสดงความจริงใจต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ด้วยการนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ และให้สภาฯเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว มิใช่ใช้วิธีการกีดกันหรือไม่ให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนเสนอ