กรณีท่านทูตนิตย์
พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ ลาออกจากการเป็นหัวหน้าคณะเจรจา
โดยมีการวิเคราะห์กันว่าสาเหตุหลักเป็นเรื่องของแรงกดดันจากหลายด้าน เช่น
แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง แรงกดดันภายในทีมเจรจา
หรือแรงกดดันจากภาคประชาชน
ผมเห็นว่าแรงกดดันที่ตกอยู่กับหัวหน้าคณะเจรจาเพียงผู้เดียว
เป็นเพราะการเจรจามีกระบวนการและขั้นตอนที่ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น
ประการแรก การกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน
การเจรจาเน้นเฉพาะการรับฟังความเห็นของกลุ่มผู้ประกอบการที่มีการจัดตั้งเป็นองค์กร
แต่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้ภาคประชาชนต้องแสดงออกโดยผ่านช่องทางที่ไม่ปกติ
เช่น การชุมนุมคัดค้าน การยื่นหนังสือประท้วง เป็นต้น
ประการที่สอง
ไม่นำข้อตกลงเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะใช้กลไกรัฐสภา โดยอ้างว่าสภาฯไม่มีผู้เชี่ยวชาญ
ซึ่งเป็นการดูถูกสมาชิกรัฐสภาที่มีความรู้หลายสาขา แต่หากรัฐบาลนำข้อตกลงเอฟทีเอเข้าพิจารณาในสภาฯ
หัวหน้าคณะเจรจาคงไม่ต้องรับแรงกดดันเพียงผู้เดียว แต่จะมีรัฐสภามาช่วยแบ่งเบาภาระแรงกดดันด้วย
ประการที่สาม
เจรจาโดยไม่อยู่บนฐานของผลการศึกษาวิจัย
ผมพบว่าการศึกษาผลกระทบของเอฟทีเอไทย-สหรัฐมีน้อยมาก
อีกทั้งรัฐบาลยังไม่ได้นำผลการศึกษาไปใช้ในการเจรจาอย่างจริงจัง
ดังตัวอย่างผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอในปี 2546
ที่เสนอให้เร่งบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า
เพื่อป้องกันการผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติ
แต่จนถึงปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวยังขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้
รวมทั้งรัฐบาลยังมีท่าทีจะไม่เปิดเสรีโทรคมนาคม ทั้ง ๆ
ที่ผลวิจัยพบว่าการเปิดเสรีโทรคมนาคมมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค
วาระของรัฐบาลที่กดดันลงไปที่หัวหน้าคณะเจรจา โดยไม่อยู่บนหลักฐานทางวิชาการ
ทำให้หัวหน้าคณะเจรจาไม่สามารถตอบสังคมได้อย่างมีหลักฐานว่า
ท่าทีการเจรจาดังกล่าวมีเหตุผลเบื้องหลังอย่างไร
ประการที่สี่
รีบเร่งเจรจาให้ได้ข้อยุติ
การที่นายกฯพยายามเร่งให้การเจรจาได้ข้อสรุปภายในปี
2549 ในขณะที่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบกล่าวว่า
จะยังไม่มีการตกลงใด ๆ หากประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ ทำให้ผมเกิดคำถามว่า
คณะผู้เจรจาควรจะเชื่อนโยบายของใคร และการที่นายกฯเร่งการเจรจาให้เสร็จ
เสมือนหนึ่งว่ามีธงอยู่ในใจอยู่แล้ว ยิ่งทำให้หัวหน้าคณะเจรจาต้องรับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากผู้ที่คัดค้าน
ผมคิดว่าการเจรจาเอฟทีเอให้ประเทศได้ประโยชน์
จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการเจรจาทั้งระบบ ผมในฐานะนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยจึงได้จัดเสวนาทางวิชาการ
เรื่อง การปฏิรูปกระบวนการเจรจาการค้าเสรี : กรณีเอฟทีเอไทย-สหรัฐ
ในวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา 13.30 17.00 ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธรุกิจหรือศศินทร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อระดมความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ
เกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการเจรจาการค้าเสรี จึงใคร่ขอเรียนเชิญมิตรสหายทุกท่านเข้าร่วมการเสวนาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด
ๆ ครับ