Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

น้ำท่วม-ภัยแล้ง วิกฤตที่สะท้อนรัฐบาลเป็นเพียงนักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
Typically temporary government measures leave flood
and drought crises unresolved

 

23 ธันวาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก รวมถึงดินถล่ม นับว่าเป็นปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นทุกปี โดยที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไข และทุ่มงบประมาณแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อแก้ปัญหา แต่อย่างไรก็ดียังคงพบว่า การแก้ปัญหานั้น รัฐบาลมักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปแต่ละปี โดยที่ไม่ได้มีแนวทางในเชิงป้องกัน หรือเตรียมความพร้อมในพื้นที่ที่ประสบปัญหาซ้ำซาก เห็นได้จากเมื่อเกิดน้ำท่วมมักมีการสั่งการให้สร้างเขื่อน สร้างแหล่งเก็บกักน้ำเป็นจุด ๆ เมื่อมีปัญหาภัยแล้ง มักแก้ไขโดยการลำเลียงน้ำ หรือส่งรถน้ำเข้าไปในพื้นที่ประสบภัย หรือการจัดทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหา ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของสวนดุสิตโพลพบว่า ประชาชนร้อยละ 64.82 เห็นว่า ปัญหาน้ำท่วมที่ไม่สามารถแก้ไขได้นั้นเนื่องจาก หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะรัฐบาลไม่ได้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะไม่ทำอย่างต่อเนื่อง ทำแบบไฟไหม้ฟาง แก้ปัญหาไปแต่ละปี

แม้ว่ารัฐบาลได้ให้คำมั่นในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 ว่า ในปี 2548 รัฐบาลจะไม่ยอมให้มีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นอีก แต่เหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ล่าสุดนี้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงรัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังในการเร่งรัดแก้ปัญหา ไม่เห็นความสำคัญของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นว่าเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง และรัฐบาลต้องถมงบประมาณในส่วนนี้อย่างต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมโดยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดนราธิวาส สงขลา ยะลา นครศรีธรรมราช ล้วนเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี แต่การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังคงทำแบบวนซ้ำดังเช่นปีที่ผ่านมา กล่าวคือ การให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นกับผู้ประสบภัย เช่น การแจกข้าวสารอาหารแห้ง การหาที่อยู่ชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัย

เรายังไม่เห็นแนวทางแก้ไขปัญหา ในเชิงบริหารจัดการทั้งในด้านของทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ ที่สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ สภาพการอยู่อาศัยของประชากร รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลระหว่างหน่วยงานราชการ เพื่อทำให้เกิดการประสานงาน และการวางแผนร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

ปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศแผนงานที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำ  เช่น แผนงบประมาณทรัพยากรน้ำเชิงบูรณาการ โครงการขนาดใหญ่หรือ เมกะโปรเจ็กต์ จำนวน 2 แสนล้านเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งทั่วประเทศ แต่จนถึงวันนี้คงต้องถามรัฐบาลกลับไปว่า หากปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ในครั้งนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว พื้นที่อื่น ๆ ในปีหน้าหรืออีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ ที่ต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับน้ำในรูปแบบอื่นอีก รัฐบาลได้เตรียมการไว้อย่างไรบ้าง มีแผนงานมือภัยแล้ง น้ำท่วมที่จะมาถึงอย่างไรแล้วบ้าง  ทั้งในส่วนของพื้นที่ประสบภัยซ้ำซาก และพื้นที่ใหม่ที่อาจประสบปัญหา

การแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่น ๆ คงไม่ได้เสร็จสิ้นเพียงการลงไปตรวจพื้นที่ประสบภัยและการลงไปสั่งการด้วยตัวเองของนายกฯ แล้วปัญหาจะหมดไป แต่หัวใจสำคัญคือ รัฐบาลควรให้คำมั่นต่อประชาชนในทุกพื้นที่ว่า จะไม่เกิดภัยซ้ำซากขึ้นอีก โดยที่ไม่ใช่เป็นการกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ดังที่ผ่านมา