Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

จัดเรทติ้งผู้สมัคร สว.
Senator Candidature Rating

 

23 พฤศจิกายน 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

เลือกตั้ง สว.ครั้งใหม่ ควรมีหน่วยงานเป็นกลางทางการเมืองจัดเรทติ้ง (rating) ผู้สมัคร สว.แต่ละคน เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำความรู้จักและเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้สมัครแต่ละคนได้โดยง่าย

เนื่องด้วยสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฯ พ..2540 กำลังจะหมดวาระลงในปี 2549 และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดวันเลือกตั้ง ในวันพุธที่ 19 เมษายน 2549

การเลือกตั้ง สว.เป็นประเด็นที่ผมได้ติดตามและเสนอความเห็นมาโดยตลอด ในช่วงเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ผมได้เสนอให้มีการเลือกตั้ง 2 มิติคือ มิติพื้นที่ตามขอบเขตจังหวัด และมิติกลุ่มผลประโยชน์ เช่น วิชาชีพ ชาติพันธุ์ ศาสนา เป็นต้น เพื่อให้ สว.เป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

ต่อมา ผมได้วิเคราะห์วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สว. ด้วยวิธี Monte Carlo Simulation เพื่อ คำนวณหาจำนวนหมายเลขที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรมีสิทธิลงคะแนน เพื่อจะทำให้ได้ตัวแทนที่คนส่วนใหญ่พึงพอใจมากที่สุด ผมพบว่าการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิกาได้เท่ากับจำนวน สว.ในจังหวัดนั้น เป็นวิธีที่สามารถตอบสนองความต้องของคนส่วนใหญ่ได้มากกว่าระบบวันแมนวันโหวต

ระบบการเลือกตั้ง สว.ยังมีปัญหาอีกประการหนึ่ง ที่อาจทำให้เราได้ สว.ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด หรือมีฐานคะแนนเสียงจัดตั้งมากที่สุด แต่อาจไม่ใช่คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย ในการใช้สื่อต่าง ๆ เพื่อแนะนำตัวเองให้ประชาชนรู้จัก

ผมจึงมีแนวความคิดว่า หากมีหน่วยงานที่เป็นกลางทางการเมือง ทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดระบบข้อมูลของผู้สมัคร สว.ทุกคน เพื่อความสะดวกในการทำความรู้จักผู้สมัครแต่ละคน อันเป็นการลดปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร

รูปแบบหนึ่งในการจัดระบบข้อมูลผู้สมัคร คือการจัดเรทติ้ง (rating) ผู้สมัครแต่ละคน โดยการจัดทำดัชนีชี้วัดคุณสมบัติด้านต่าง ๆ เพื่อแปลงคุณสมบัติด้านนั้น ๆ ออกมาเป็นคะแนน ซึ่งจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถทำความรู้จักและเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้สมัครแต่ละคนได้โดยง่าย แต่ให้ดัชนีรับการถกเถียงกันจนตกผลึกล่วงหน้าเพื่อความเห็นพ้องต้องกันว่าดัชนี ตัวถ่วงน้ำหนัก และการถ่วงน้ำหนักเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ดัชนีชี้วัดควรได้รับการออกแบบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และครอบคลุมคุณสมบัติด้านต่าง ๆ ทั้งความรู้ ทักษะและลักษณะชีวิตที่จำเป็นต่อการทำงาน สว. และเป็นข้อมูลที่ประชาชนควรรู้ แต่ไม่ควรสลับซับซ้อนจนยากเกินความเข้าใจ และไม่ควรคำนวณเป็นคะแนนรวมซึ่งจะเป็นการชี้นำว่าควรเลือกใครเป็น สว.