Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

 ขอเสนออย่างสร้างสรรค์


ถามหามาตรฐาน ตีความสัญชาติชินคอร์ป
Requesting Nationality Standards of Shin Corporation Leadership.

 

23 กุมภาพันธ์ 2549

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้จัดแถลงข่าว เรื่อง การตีความสัญชาติชินคอร์ป โดยผมได้ตั้งข้อสังเกตถึงมาตรฐานที่แตกต่างกันของหน่วยราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการถือหุ้นของคนต่างด้าว เพราะการตีความเกี่ยวกับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทไทยแอร์ เอเชียจำกัด น่าจะส่งผลกระทบต่อการถือหุ้นของชินคอร์ปในเอไอเอส ไอทีวี และชินแซทด้วย

ผมมีคำถามว่า ชินคอร์ปฯเป็นนิติบุคคลสัญชาติใดกันแน่ สัญชาติไทยหรือต่างด้าว? เพราะหากพิจารณาจากสัญชาติของผู้ถือหุ้นใหญ่ในชินคอร์ปฯ บริษัทนี้จะมีสัญชาติไทย เพราะมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยอย่างน้อย 54% แต่หากพิจารณาจากแหล่งที่มาของเงินที่มาซื้อหุ้นในชินคอร์ป บริษัทนี้จะมีสัญชาติต่างด้าว เพราะเงินที่นำมาซื้อหุ้นชินคอร์ปเป็นเงินของคนต่างด้าวอย่างน้อย 60.16%

คำถามต่อมา หากชินคอร์ปฯมีสัญชาติไทย เหตุใดอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศจึงยืนยันว่า แอร์ เอเชียก่อนเปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้นนั้น เป็นสายการบินที่ถือหุ้นโดยชาวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายตาม ...การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว..2542 อีกทั้งผิดหลักเกณฑ์คุณสมบัติการขอใบอนุญาตเดินอากาศสำหรับการบินพาณิชย์ด้วย เพราะกฎหมายการเดินอากาศระบุว่า สายการบินสัญชาติไทยจะต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยชาวไทยไม่น้อยกว่า 51% และต่างชาติไม่เกิน 49% จนกลายเป็นที่มาของการลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปในแอร์เอเชีย

และหากบริษัท ชินคอร์ปฯ เชื่อว่าตนเองมีสัญชาติไทย เหตุใดจึงต้องยินยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทไทยแอร์ เอเชียจำกัดลง จากเดิมที่บริษัทเออินเตอร์เนชั่นแนลจำกัดหรือสายการบินแอร์เอเซียของประเทศมาเลเซียถือหุ้น 49% นายทัศพล แบเวเว็ลด์ ถือหุ้น 1% และชินคอร์ปฯถือหุ้น 50% เปลี่ยนเป็นการตั้งบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด เข้ามาขัดตาทัพถือหุ้น 50% แทนชินคอร์ปฯ โดยที่บริษัทเอเชีย เอวิเอชั่นจำกัดมีนายสิทธิชัย วีระธรรมนูญถือหุ้น 51% และชินคอร์ปถือหุ้น 49%

คำถามสุดท้าย กรณีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของแอร์เอเชีย จะถือเป็นบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายประกอบธุรกิจต่างด้าวของหน่วยงานราชการอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้หากตีความว่าบริษัทชินคอร์ปเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เหมือนกับกรณีบริษัทไทยแอร์ เอเชียจำกัด แสดงว่าการที่บริษัทชินคอร์ปฯ ถือหุ้นในไอทีวี 53% ในชินแซท 51.38% และในเอไอเอส 42.86% เมื่อบวกกับสิงห์เทลถือหุ้นในเอไอเอสอีก 19.26% รวมเป็น 62.12% น่าจะเป็นการถือหุ้นเกินสัดส่วนที่ชาวต่างชาติจะถือหุ้นได้ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

ผมจึงฝากเรียนถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะดำเนินการอย่างไร และจะดำเนินการเมื่อใด กับกรณีไอทีวี ชินแซท และเอไอเอส รวมทั้งบริษัทอื่น ๆ ที่มีโครงสร้างการถือหุ้นในลักษณะเช่นเดียวกับบริษัทเหล่านี้ และกรุณาใช้มาตรฐานเดียวกันในการตีความเกี่ยวกับสัญชาติของนิติบุคคลด้วย