Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ความไร้เสถียรภาพของนโยบาย สู่ความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
Ineffective policies lead to ineffective economics

 

22 ธันวาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

ตลอดปี 2548 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญภาวะไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยประสบภาวะเงินเฟ้อที่สูงมาก โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นแตะระดับร้อยละ 6 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และสำหรับเสถียรภาพภายนอก สามไตรมาสแรกของปีนี้ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 3.8 ของจีดีพี แม้สาเหตุสำคัญของความไร้เสถียรภาพจะมาจากปัจจัยภายนอก แต่ผมเชื่อว่าสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งของความไร้เสถียรภาพ คือนโยบายของรัฐบาลที่ไม่แน่นอนและปรับเปลี่ยนไปตามกระแสเป็นนโยบายรายวัน

สถานการณ์ของรัฐบาลในปัจจุบัน ทำให้ผมนึกถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ชื่อ “Rule Rather Than Discretion: the Inconsistency of Optimal Plans” ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้ ศ. Finn Kydland และ ศ. Edward Prescott ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2547 งานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่า การที่รัฐบาลประกาศนโยบายเป็นกฎ (Rules) อย่างชัดเจน แล้วกระทำตามนั้น ทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาว ดีกว่าการปรับนโยบายยืดหยุ่นตามสภาพการณ์ (Discretion) เนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามสถานการณ์ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในนโยบายรัฐบาล

ตลอดปี 2548 นี้ นโยบายของรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนตามกระแส (Discretion) มากกว่ายึดถือกฎเกณฑ์ (Rules) เช่น โครงการเมกะโปรเจกต์ที่รัฐบาลไม่มีความแน่นอน แต่ปรับเปลี่ยนนโยบายไปมาจนทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น หรือ โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่หรือนครสุวรรณภูมิ ที่ประกาศออกมาอย่างแข็งขันแต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ ส่งผลทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งหลงเชื่อ และได้รับความเสียหายจากการปรับตัวไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยด้วย

ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาว รัฐบาลควรตั้งกฎเกณฑ์ในนโยบายให้ชัดเจน และดำเนินตามกฎนั้นอย่างเคร่งครัดไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ปรับนโยบายรายวันตามใจชอบหรือตามกระแส