Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ข้อคิดจากหนังสือ “ตีแผ่โครงการเมกะโปรเจคท์”

 

22 มิถุนายน 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก         

            มีเพื่อนสมาชิกส่ง Email มาถามกันเป็นจำนวนมากว่าหนังสือ “ตีแผ่โครงการเมกะโปรเจคท์” ที่ผมใช้ประกอบการอภิปรายในสภาเมื่อหลายเดือนก่อนนั้น มีชื่อเต็มว่าอะไร ใครเป็นผู้เขียน และจะหาซื้อได้จากไหนนั้น เพื่อคลายข้อข้องใจ ผมจึงขออนุญาติตอบคำถามดังกล่าวใน Email ฉบับนี้ในคราวเดียวเลยนะครับ

           หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “Megaprojects and risk : an anatomy of ambition”   เขียนโดยBent Flyvbjerg, Nils Bruzelius and Werner Rothengatter ในปี 2003 พิมพ์ที่ มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์  หาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป  ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ก็มีครับ  

            เนื้อหาภายในหนังสือได้กล่าวถึง ความเสี่ยง 3 ด้านหลัก คือความเสี่ยงด้านต้นทุน ความเสี่ยงด้านผลตอบแทน และความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

             หนังสือเล่มนี้ระบุถึง ผลการศึกษาโครงการขนาดใหญ่ 258 โครงการ ใน 20 ประเทศ 5 ทวีปทั่วโลก ระหว่างปี พ.ศ. 2470-2541 (72 ปี) พบว่า โครงการส่วนใหญ่มีการประเมินต้นทุนต่ำกว่าความเป็นจริงถึงร้อยละ 50-100 และการประมาณการรายได้สูงกว่าความเป็นจริงร้อยละ 20-70 รวมทั้งมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้รัฐบาลในประเทศเหล่านั้นต้องเข้าไปอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและยาวนาน            

            ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจคท์ 1.7 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติให้เกิดขึ้นนั้น คือ หากมีการประเมินต้นทุนที่ต่ำกว่าความเป็นจริงร้อยละ 50-100 ต้นทุนที่วางไว้เดิมอาจบานปลายไปถึง  2.55 ล้านล้าน หรือพุ่งไปถึง 3.4 ล้านล้าน
เลยทีเดียว โครงการนี้ยังอาจจะประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากจัดเก็บรายได้ไม่ได้ตามเป้า และอาจสร้างความเดือดร้อนอย่างรุนแรงแก่ประชาชนในพื้นที่ก่อสร้าง           

           ด้วยเหตุนี้ คำถามที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญและควรทำการศึกษาเพื่อหาคำตอบ คือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอดีตของประเทศไทย มีลักษณะดังกล่าวด้วยหรือไม่ และแผนการลงทุนมูลค่ามหาศาลในปัจจุบัน ได้รวมความเสี่ยงดังกล่าวไว้แล้วหรือไม่ จะป้องกันความเสี่ยงได้อย่างไร และหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร

           ในความเป็นจริง นโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาลไม่ใช่เป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นบนโลก การเรียนรู้จากบทเรียนในต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ควรทำก่อนที่จะผลักดันโครงการใด ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดล้มเหลวเหมือนหลาย ๆ โครงการที่ผ่านมา