Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

 ขอเสนออย่างสร้างสรรค์


เรียลลิตี้โชว์แก้จน สอนคนให้เห็นเงินเป็นพระเจ้า
Reality Show

 

22 มกราคม 2549

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

จากที่นายกฯ ได้ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาความยากจนที่อำเภออาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีสถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีเป็นผู้ถ่ายทอดสดตลอด 5 วัน 5 คืน ตั้งแต่วันที่ 16 –20 มกราคมที่ผ่านมา ผมได้ทำการเก็บตัวเลขกิจกรรมการแก้ปัญหาความยากจนของนายกรัฐมนตรี ผ่านรายการดังกล่าวตลอดระยะเวลา 5 วัน ซึ่งนายกฯ อ้างว่าเป็นการสอนการแก้ปัญหาความยากจนทางไกล แต่แท้ที่จริงเป็นการสอนให้คนเห็นเงินเป็นพระเจ้า

ประการแรก เน้นการสอนประชาชนให้แบมือขอ นายกฯสอนให้ประชาชนต้องพึ่งรัฐ มากกว่าพึ่งตนเอง จากการเก็บสถิติในรายการเรียลลิตี้โชว์ตลอด 5 วัน พบว่า นายกฯ ได้ให้คำปรึกษาชาวบ้านและตัวแทนชาวบ้าน ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งหมด 93 คน สามารถรวบรวมกิจกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนที่นายกฯ แนะนำได้ทั้งหมด 11 หมวด 217 กิจกรรม แต่กิจกรรมที่นายกฯ ทำเพื่อส่งเสริมการพึ่งตนเองของประชาชนและชุมชน อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แนะนำอาชีพ มีเพียง 36% ของกิจกรรมทั้งหมด ส่วนกิจกรรมที่นายกฯ ให้ประชาชนพึ่งพารัฐ อาทิ การพักหนี้ การพึ่งพาโครงการรัฐบาล มีถึง 61.7%

ทั้งที่หลักการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ควรช่วยเขาเพื่อให้ช่วยตนเองได้ เหมือนคำที่ว่า "จับปลาให้กิน 1 ตัว คนจะอิ่มได้เพียง 1 วัน แต่สอนให้จับปลาได้ เขาจะอิ่มตลอดชีวิต” แต่ตลอดการลงพื้นที่ของนายกฯ เน้นการแจกเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับรู้สึกพึงพอใจเป็นหลัก ไม่มีมิติของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสะท้อนปัญหา ผู้ที่มารายงานปัญหาของชาวบ้านคือนายอำเภอ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นายกฯ ไม่ได้ตั้งใจลงไปแก้ปัญหาความยากจนจริง เป็นเพียงรูปแบบการหาเสียงแบบใหม่ในยามขาลง เพราะการฟังปัญหาผ่านนายอำเภอ ไม่จำเป็นต้องลงไปถึงอาจสามารถ สามารถเรียกข้าราชการกลุ่มนี้มาที่ส่วนกลางได้

ประการที่สอง สอนข้าราชการให้ใช้เงินแก้ปัญหาทุกอย่าง จากการเก็บสถิติโดยนับกิจกรรมที่นายกฯทำตลอดทั้ง 5 วัน สังเกตว่าวิธีการของนายกฯ กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการ "แจกเงิน แจกของ" อาทิ ให้เอกสารสิทธิที่ดิน แจกโค ให้เงินกู้ ฯลฯ โดยคิดเป็น 40% ของกิจกรรมทั้งหมด ในขณะที่การ “แจกปัญญา” หรือกิจกรรมเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์หรือความรู้ความสามารถของชาวบ้าน อาทิ ให้ทุนการศึกษา ฝึกอบรม มีเพียง 20.3% เท่านั้น

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า การแก้ปัญหาความยากจนของนายกฯ เป็นไปอย่างฉาบฉวย ใช้เงินในการแก้ปัญหา ต้องการเพียงให้เห็นผลเร็ว หรือให้ประชาชนเห็นว่าเมื่อนายกฯ ลงไป ชาวบ้านจะมีทีที่ดิน มีเงินใช้ วิธีการดังกล่าวแม้จะเห็นผลเร็วแต่ไม่ยั่งยืน ในทางกลับกันการพัฒนาทุนมนุษย์ให้ชาวบ้านนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาความยากจนที่ยั่งยืนมากกว่า แต่ต้องใช้เวลานาน ดังนั้นหากจะนำเรียลลิตี้โชว์นี้ไปเป็นแบบอย่างแก่ข้าราชการจริง อาจทำให้ข้าราชการทั้งประเทศทำตามอย่างแบบอย่างที่ผิดของนายกฯ

สุดท้ายผมมีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ แม้จังหวัดร้อยเอ็ดมีสัดส่วนคนจนด้านรายได้ถึง 8% ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่ใช่พื้นที่ที่ยากจนที่สุด แต่เหตุผลที่นายกฯเลือกพื้นที่นี้เพราะเป็นพื้นที่ของไทยรักไทย ซึ่งเป็นการยืนยันคำพูดของนายกฯ ที่ว่า "จะดูแลพื้นที่ที่เลือกไทยรักไทยก่อน" คำถามคือ นายกฯ จะลงไปแก้ความยากจนในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งมีปัญหาความยากจนที่รุนแรงกว่านี้หรือไม่ เช่น ปัตตานีที่มีสัดส่วนคนจนด้านรายได้ถึง 23% และนราธิวาสที่มีคนยากจนถึง 18%