Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

พ.ร.บ. ขายสมบัติชาติ
Nation Betrayers Act

 

21 ตุลาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก     

จากการที่รัฐบาลมีมติรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.โอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษและยกระดับอุตราภิมุขบางช่วงเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. เมื่อวันพุธที่ 12 ต.ค. 2548 ที่ผ่านมา โดยได้เหตุผลการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในบทบาทของกรมทางหลวง กับการทางพิเศษฯ (กทพ.)

หากพิจารณาเพียงผ่าน ๆ เป็นเหตุผลที่ดี แต่เมื่อพิจารณาแนวปฏิบัติโดยละเอียด พบว่าเป็น พ.ร.บ.ที่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก เป็นการดึงสมบัติของชาติ เพื่อเตรียมขายให้คนบางกลุ่ม ในมาตรา 3 ระบุว่า นอกจาก
การโอนอำนาจหน้าที่ และกิจการบริหาร ตามที่ชื่อของ พ.ร.บ. แล้ว ยังรวมถึงทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้าง ไปให้ กทพ. ซึ่งรวมถึง สิ่งปลูกสร้างและที่ดินของทางด่วนมอร์เตอร์เวย์และโทลล์เวย์บางช่วง ซึ่งมีมูลค่ากว่า 44,205 ล้านบาท และสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ยังไม่นับรวมกับรายได้ในการเก็บค่าผ่านทางประมาณปีละ 2,384 ล้านบาทต่อปี หรือ 198 ล้านบาทต่อวัน (สถิติปี 47 นับเฉพาะทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และ 9) และในอนาคต กทพ.จะไม่ใช่หน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้าของ 100% เพราะใน 1-2 ปีข้างหน้า รัฐบาลมีแผนที่จะนำ กทพ.เข้าตลาดหุ้น เท่ากับว่าเรากำลังโอนทรัพย์สินที่เป็นของประชาชนทั้งประเทศ ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่มหรือคนต่างชาติหรือ?

ประการที่สอง เอาเฉพาะของดีให้คนบางกลุ่ม แต่เอาของเสียให้แผ่นดิน ในมาตรา 4 ระบุว่า การโอนทรัพย์สิน สิทธิ และบุคลากรตามมาตร 3 ไม่รวมถึงกรณีบรรดาหนี้และภาระผูกพันที่กรมทางหลวงมีหน้าที่ต้องชำระ คำถาม คือ ทำไมรัฐบาลต้องการโอนแต่ทรัพย์สินที่สามารถทำกำไรได้ แต่ไม่โอนหนี้ไปด้วย หาก กทพ. ได้ทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงและมีศักยภาพในการสร้างรายได้ โดยเฉพาะมอเตอร์เวย์ ซึ่งจะมีผู้ใช้บริการมากขึ้นเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการ แต่ไม่มีหนี้เลย เมื่อ กทพ.เข้าตลาดหุ้นจะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าสูง ผู้ที่ได้หุ้นของ กทพ.จึงมีแต่ได้ ไม่มีเสีย แต่หนี้ยังตกอยู่กับกรมทางหลวงซึ่งเป็นภาระของรัฐที่ต้องชำระหนี้ต่อไป

รัฐบาลได้ดำเนินการลักษณะเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว หากพิจารณาจากรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีของ สตง. ที่ปรากฏอยู่ในรายงานประจำปี 2547 ของ กทพ. ผู้ตรวจสอบบัญชีวิเคราะห์ว่า กทพ. ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ต้องตัดขาดทุน โดยทยอยหักเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปี เป็นระยะเวลาหลายปี แต่กระทรวงการคลังให้ กทพ.เร่งตัดขาดทุนให้หมดใน 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปีบัญชี 2546 โดยหักจากรายได้ของ กทพ. การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของ กทพ.จะหมดในปีบัญชี 2549 (30 ก.ย. 2549) พอดี ช่างเป็นเวลาที่เหมาะเจาะกับช่วงที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้ กทพ.ทำแผนแปรรูปให้เสร็จภายในปี 2549

แม้ประเด็นการหักขาดทุนเร็วยังไม่ใช่ปัญหา เพราะหักขาดทุนเร็วบางครั้งอาจจะดีกว่าหักขาดทุนช้า แต่ปัญหาก็คือ ใครเป็นคนรับภาระการขาดทุนนี้ และใครได้ประโยชน์จากการที่ กทพ.ไม่มีผลการขาดทุนที่สะสม สตง.วิเคราะห์ว่า หาก กทพ.หักขาดทุนแบบเดิมจะทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น 678.9 ล้านบาท แสดงว่าการหักขาดทุนเร็วขึ้นจะทำให้กำไรลดลง 678.9 ล้านบาทต่อปี กำไรที่ลดลงแสดงว่าการจ่ายรายได้เข้าคลังจะลดลงด้วย เพราะกทพ.ต้องส่งรายได้เข้าคลังร้อยละ 35 ของรายได้ที่จัดเก็บได้ หรือหมายความว่า คลังจะมีรายได้ลดลงจากที่ควรจะได้ 237.62 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2546-2549 หรือรวมเป็นเงินประมาณ 1 พันล้านบาท

ประชาชนทั้งประเทศจึงเป็นคนที่รับภาระหนี้และการขาดทุนไปโดยทางอ้อม ส่วนผู้ได้รับหุ้นของ กทพ.ในอนาคต จะเป็นผู้ได้ประโยชน์ เพราะเสวยสุขอยู่บนสินทรัพย์ของ กทพ.ที่ปราศจากภาระหนี้และการขาดทุน มีแต่กำไรล้วน ๆ