Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

Six ways to reduce the risks from government mega-projects
6 แนวทางลดความเสี่ยงโครงการเมกกะโปรเจกต์ภาครัฐ

 

21 กรกฏาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก         

คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรได้จัดการสัมมนา “ความเสี่ยงโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ : บทเรียนในอดีตและผลกระทบในอนาคต”  เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา  โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย อาทิ  คุณพรรณี     สถาวโรดม   ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ ที่ปรึกษาศูนย์ยุทธศาสตร์การงบประมาณ สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อตระกูล  ยมนาค   อดีต ประธานคณะทำงานติดตามศึกษาการทุจริตและปฎิบัติธรรมาภิบาล สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบัน เป็นนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการกองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชั่น

ผมในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการผู้จัดงานสัมผัสได้ถึงความห่วงใยของผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน ถึงผลกระทบมากมายที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการขนาดยักษ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ความเสี่ยงในการระดมทุน รวมทั้ง ความเสี่ยงในการคอร์รัปชั่นที่อาจสูงถึง 40 % จากยอดเงิน 1.77 ล้านบาท หรือเท่ากับเงินทั้งสิ้น 6.8 แสนล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว รศ. ดร.ต่อตระกูลได้กล่าวว่าสามารถที่จะเป็นต้นทุนทางการเมืองให้รัฐบาลได้อยู่ในตำแหน่งได้ยาวนานถึง 136 สมัย หากคูณ 4เข้าไปจะเท่ากับ 544 ปี เลยทีเดียว 

เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ในการสัมมนาครั้งนี้ผมได้เสนอแนวทางป้องกันปัญหาความเสี่ยงที่สำคัญไว้ 6 ประการ  อันได้แก่ 

1.  รัฐบาลต้องประเมินความเสี่ยงอย่างสมจริง
แล้วนำกลับมาเสนอต่อประชาชนอีกครั้ง เนื่องจากไม่สามารถใช้สมมติฐานทางเศรษฐกิจแบบเดิมได้ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดิม รวมทั้งรัฐบาลได้กำหนดนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค จะส่งผลกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน  ดังนั้นจึงควรมีการทบทวนสมมติฐานและวิเคราะห์ผลกระทบเสียใหม่

2.  รัฐบาลควรรับฟังความเห็นจากรอบด้าน  ดังตัวอย่าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่มีการเรียกร้องจากประชาชนในพื้นที่ย่านเตาปูน ให้เปลี่ยนจากรูปแบบรถไฟลอยฟ้า เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่รัฐบาลออกมายืนยันว่าจะไม่ปรับเปลี่ยนแผนการก่อสร้าง  รวมทั้ง โครงการชลประทานระบบท่อ ซึ่งประชาชนในพื้นที่อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อท่อเข้ามาในพื้นที่ของตน รวมทั้งอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาท่อด้วยแต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป โดยยังไม่สอบถามความต้องการของประชาชนอย่างรอบคอบก่อน


3.
       ไม่ปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยง  
โดยเฉพาะงบลงทุนที่จะมีผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัด  รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เช่น รัฐบาลบอกว่าจะการดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็กต์จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เกิน 2% ของ GDP แต่ไม่บอกว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขเฉลี่ย และไม่ได้บอกว่าในปี 2550-2552 จะขาดดุลฯ เกินกว่า 2% ตามที่รัฐบาลระบุไว้  ปี 2550  ขาดดุล  -2.04%   ปี 2551 ขาดดุล  -3.29% ปี 2552   ขาดดุล  -2.15% อีกประเด็นหนึ่ง รัฐบาลควรเปิดเผยต้นทุนที่ภาครัฐยังต้องจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนต่อไปในอนาคต เช่น โครงการรถไฟฟ้า ถ้ารัฐบาลจะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสายตามที่ได้ประกาศเอาไว้นั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ใช้บริการขนส่งมวลชนระบบราง  รัฐบาลควรบอกด้วยว่ารัฐบาลจะต้องอุดหนุนปีละเท่าไร และรัฐบาลจะมีมาตรการจัดเก็บรายได้อย่างไร เพื่อมาอุดหนุนโครงการนี้

4. รัฐบาลต้องเร่งศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบโครงการที่ชัดเจน เพราะ หลายโครงการยังไม่มีรูปแบบโครงการที่ชัดเจน
มีเพียงโครงการรถไฟฟ้า 7 สายเท่านั้น ที่ค่อนข้างชัดเจนในระดับเบื้องต้น  แต่เมกะโปรเจกต์ในสาขาอื่น ๆ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุน ทำให้เกิดคำถามว่า การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ภายในเวลา 4-5 ปี โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ เลย จะสามารถดำเนินการได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดได้หรือไม่ ? และหากรีบเร่งให้โครงการเสร็จทันตามที่กำหนด จะดำเนินการรอบคอบหรือไม่ ?

5.  รัฐบาลต้องกระจายความเสี่ยง
ซึ่งข้อข้องใจที่เกิดขึ้นคือเหตุใดจึงใช้เงินลงทุนสูงสุดในปี 2551 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล และเป็นปีก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งที่สามารถกระจายเงินลงทุนออกไปยังปีอื่น ๆ ได้  และยังทำให้ไม่เกิดแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัด ผลการศึกษาของกระทรวงการคลัง พบว่า ปี 2551 เป็นปีที่ขาดดุลสูงที่สุดในตลอด 5 ปีเช่นกัน ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้วรัฐบาลมีแรงจูงใจทางการเมือง มากกว่าการรักษาผลประโยชน์ของชาติหรือไม่ ? เหตุใดรัฐจึงไม่กระจายการลงทุนออกไป ไม่ให้กระจุกในช่วงเวลา 4-5 ปีเท่านั้น ? ผมคิดว่ารัฐบาลสามารถกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการได้หลายวิธี เช่น จัดลำดับความสำคัญและแบ่งการดำเนินโครงการออกเป็นเป็นขั้น ๆ  การให้เอกชนมาร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ รัฐไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงไว้เองทั้งหมด

6. รัฐบาลควรที่จะกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่สมจริง รัฐบาล
เคยยืนยันว่า หากขาดดุลฯเกิน 2% จีดีพี จะชะลอหรือเลื่อนโครงการที่สำคัญน้อยออกไป และควบคุมสัดส่วนการนำเข้า จึงเกิดข้อสงสัยว่า หากโครงการต่าง ๆ ดำเนินการไปแล้ว การชะลอหรือเลื่อนโครงการออกไป หรือควบคุมการนำเข้าจะเป็นไปได้อย่างไรในภาคปฏิบัติ รัฐบาลบอกว่าจะดำเนินการจัดลำดับความสำคัญ แต่ยังไม่เห็นว่าได้มีการระบุว่าโครงการใดสำคัญมาก โครงการใดที่มีความสำคัญน้อยกว่า สามารถเลื่อนออกไปได้ และยังไม่เห็นว่ารัฐบาลได้จัดทำแผนสำรองไว้อย่างไร ในกรณีที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามแผน หรือมีการเผื่อเหลือเผื่อขาดเท่าไร หากเกิดการบานปลายของต้นทุน และหากการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์

ผมคิดว่าแนวทางทั้ง
6
ประการนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่รัฐบาลควรแสดงออกให้เห็นถึงความจริงใจในการทำ

ประโยชน์เพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นการแสดงออกซึ่งความโปร่งใสให้กับประชาชนทั่วประเทศที่กำลังจับตามองดูในสิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่ครับ